backup og meta

น้ำตาลตก หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดจากอะไร สังเกตยังไง

น้ำตาลตก หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดจากอะไร สังเกตยังไง

น้ำตาลตก หรือน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งอาจทำให้มีอาการเเสดง เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นแรง ตัวสั่น เหงื่อออกมาก รู้สึกหิวหรือโหยผิดปกติ โดยการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสามารถเเก้ไข้ได้ด้วยรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว เช่น น้ำตาล น้ำหวาน ลูกอม ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างรวดเร็ว แต่หากเมื่อเกิดภาวะน้ำตาลต่ำเเล้วไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจทำให้เกิดอาการรุนเเรง ได้เเก่ ชัก หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

[embed-health-tool-bmi]

น้ำตาลตก คืออะไร

อาการน้ำตาลตก คือ ภาวะที่ร่างกายของผู้ที่เป็นเบาหวาน มีระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือ 3.9 มิลลิโมล/ลิตร แม้ว่าตามปกติแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดจะมีการเปลี่ยนเเปลงตลอดตามปริมาณกลูโคสในอาหารที่รับประทาน แต่หากมีภาวะน้ำตาลต่ำอย่างฉับพลันก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมาได้

น้ำตาลตกเกิดจากอะไร

โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการน้ำตาลตกมักเกิดขึ้นเมื่อการใช้ยาลดระดับน้ำตาลไม่สัมพันธ์กับระดับน้ำตาลในเลือด อาทิเช่น ผู้ป่วยรับอินซูลินหรือยารักษาเบาหวานในปริมาณมากเกินไป การรับประทานอาหารน้อยลง หรือ ไม่ตรงเวลา รวมถึงการออกกำลังกายที่หักโหมมากกว่าปกติ ก็ล้วนส่งผลให้น้ำตาลตกได้

ทั้งนี้ อาการน้ำตาลตกอาจเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่เป็นเบาหวานได้เช่นกัน เเต่จะพบได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาควินิน (Qualaquin) เพื่อรักษาโรคมาลาเรีย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป มีเนื้องอกที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน ภาวะพร่อมงฮอร์โมนบางชนิด รวมไปถึงภาวะเจ็บป่วยบางประการ เช่น การติดเชื้อรุนแรง โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งการรักษาจะเป็นการรักษาที่สาเหตุนั้น ๆ

น้ำตาลตก อาการเป็นอย่างไร

อาการน้ำตาลตกที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้

  • หัวใจเต้นแรง รู้สึกใจสั่น หวิว
  • มือสั่น ตัวสั่น
  • รู้สึกชามือ เท้า
  • เหงื่อออกมากผิดปกติ
  • รู้สึกวิตกกังวล ประหม่า ไม่มีสมาธิ
  • หงุดหงิดง่าย สับสน
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ปวดศีรษะ
  • รู้สึกหิว โหยอาหารหวาน
  • สายตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน
  • ง่วงซึม
  • รู้สึกไม่มีแรง อ่อนเพลีย
  • ฝันร้าย สะดุ้งตื่นกลางดึก หรือ นอนหลับไม่สนิท

นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น

  • ชัก
  • หมดสติ
  • หัวใจหยุดเต้น เเละ เสียชีวิต ได้

วิธีรักษาอาการ น้ำตาลตก เบื้องต้น

หากผู้ที่เป็นเบาหวานมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้น หรือ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดได้น้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรดูเเลตนเองเบื้องต้นด้วยการรับประทานน้ำตาลกลูโคสหรือคาร์โบไฮเดรตชนิดดูดซึมเร็ว ปริมาณ 15 กรัม อาทิเช่น น้ำหวาน 1 แก้ว ลูกอม 2-3 เม็ด น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ ลูกเกด 2 ช้อนโต๊ะ แล้วรอสัก 15-20 นาทีเพื่อให้น้ำตาลดูดซึมเข้ากระแสเลือด เเล้วจึงตรวจระดับน้ำตาลอีกครั้ง หากระดับน้ำตาลยังไม่สูงกว่า 80  มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้รับประทานกลูโคสหรือคาร์โบไฮเดรตข้างต้นซ้ำเเละตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงกว่า 80  มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงจะถือว่าปลอดภัย นอกจากนี้ผู้ป่วยยังควรประทานอาหารว่าง เช่น แครกเกอร์ 2-3 ชิ้น ผลไม้ขนาดกลางอย่างชมพู่ ละมุด 1 ลูก เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้ต่ำอีก ก่อนจะถึงมื้ออาหารหลัก มื้อถัดไป

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะน้ำตาลตก อาจทำได้ดังนี้

  • หมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลด้วยเครื่องวัดน้ำตาลในเลือดปลายนิ้ว ด้วยตัวเองเป็นประจำ เพื่อให้ทราบว่าระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยทราบได้ตั้งเเต่ยังไม่มีอาการ หรือ มีอาการเพียงเล็กน้อย เเละทำให้รีบทำการเเก้ไขได้อย่างทันท่วงที
  • วางแผนการรับประทานอาหาร โดยควรรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันดีในปริมาณเเละสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอ ซึ่งจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายได้ โดยที่ร่างายไม่ขาดสารอาหาร
  • หากมีอาการน้ำตาลตกบ่อย ๆ ควรไปพบคุณหมอก่อนนัด เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการปรับยา หรือ หาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น ลดปริมาณยาเบาหวาน ปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน การออกกำลังกาย รวมถึงชนิดของอาหาร
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มแต่พอดี หรือไม่เกิน 2 แก้ว/วัน เเละ ไม่เกิน 2-3 วัน/สัปดาห์ เนื่องจากการดื่มเเอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่ได้ทานอาหารร่วมด้วย อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • ให้ความรู้เกี่ยวกับสัญญาณของอาการน้ำตาลตกและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น กับผู้ดูแล หรือ คนในครอบครัวของผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในยามฉุกเฉิน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hypoglycemia (Low Blood Glucose). https://www.diabetes.org/diabetes/medication-management/blood-glucose-testing-and-control/hypoglycemia. Accessed April 5, 2023

Hypoglycemia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypoglycemia/symptoms-causes/syc-20373685. Accessed April 5, 2023

Hypoglycemia. https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-problems/low-blood-glucose-hypoglycemia. Accessed April 5, 2023

Hypoglycemia. https://medlineplus.gov/hypoglycemia.html. Accessed April 5, 2023

Hypoglycemia (Low Blood Sugar). https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/11647-hypoglycemia-low-blood-sugar. Accessed April 5, 2023

Low Blood Sugar (Hypoglycemia). https://www.cdc.gov/diabetes/basics/low-blood-sugar.html. Accessed April 5, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

13/06/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำตาลในเลือดต่ำ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

น้ำตาลในเลือดต่ำ ในคนปกติ เป็นอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 13/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา