backup og meta

น้ำตาลในเลือดต่ำ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    น้ำตาลในเลือดต่ำ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน

    โดยปกติแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดช่วงที่อดอาหารของคนทั่วไปจะอยู่ที่ 56-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากคนทั่วไปมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแสดง เช่น อ่อนเพลีย หิวบ่อย หัวใจเต้นเร็ว ภาวะอาจเกิดจากผู้ป่วยเบาหวานได้รับยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่เหมาะสม ออกกำลังกายหักโหมเกินไป รับประทานอาหารไม่ตรงเวลาหรืออดอาหาร แต่หากพบในผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม

    น้ำตาลในเลือดต่ำ คืออะไร

    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ คือ ภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในผู้ป่วยเบาหวาน หรือต่ำกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตรในคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยาลดระดับน้ำตาลหรือยาฉีดอินซูลินที่ไม่เหมาะสม หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การอดอาหาร การออกกำลังกายหักโหม โรคร่วมบางชนิด รวมไปถึงโรคมะเร็ง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น ใจสั่น สายตาพร่ามัว รู้สึกโหย เหงื่อออกมาก หากมีระดับน้ำตาลต่ำมากหรือไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้หมดสติ ซึม ปลุกไม่ตื่น ชัก และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

    น้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดจากอะไร

    สาเหตุของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจมีดังนี้

    สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ที่เป็นเบาหวาน

    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำของผู้ป่วยเบาหวานอาจเกิดจากการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดบางกลุ่ม ได้แก่ ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) เช่น ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) ไกลพิไซด์ (Glipizide) ไกลบูไรด์ (Glyburide) ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน หากรับประทานยากลุ่มดังกล่าวปริมาณมากเกินไป หรือรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา จึงอาจทำให้เกิดอาการน้ำตาลต่ำได้ นอกจากนี้ หากผู้ที่ใช้ยาฉีดอินซูลินฉีดอินซูิลินในขนาดสูงเกินไป หรือรับประทานอาหารน้อยลงหรือผิดเวลาก็อาจเกิดภาะวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้เช่นกัน หรือหากผู้ป่วยเบาหวานทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากกว่าปกติ หรือ อกกำลังกายหักโหมกว่าเดิม ก็อาจเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้ เนื่องจากร่างกายมีการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดไปเป็นพลังงานมากขึ้น

    นอกจากนี้ หากผู้ที่เป็นเบาหวานมีโรคร่วม เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคหัวใจ ก็ทำให้มีความเสี่ยงในเกิดภาวะน้ำตาลต่ำสูงเช่นกัน จึงควรหมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ

    สาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ควินิน (Quinine) ซึ่งใช้รักษาโรคมาลาเรีย อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
    • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือดื่มโดยไม่รับประทานอาหาร ในกระบวนการกำจัดแอลกอฮอล์ ตับจะผลิตสารชนิดหนึ่งที่ส่งผลขัดขวางกระบวนการผลิตกลูโคสที่ตับเก็บสำรองไว้ในรูปแบบไกลโคเจน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
    • ภาวะทางสุขภาพ เช่น โรคตับอักเสบรุนแรง โรคตับแข็ง การติดเชื้อรุนแรง โรคไต โรคหัวใจล้มเหลว รวมไปถึงโรคอะนอเร็กเซียหรือโรคคลั่งผอม (Anorexia) อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
    • การอดอาหารระยะยาว หากร่างกายมีภาวะทุพโภชนาการหรืออดอาหารเป็นเวลานาน จนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ร่างกายจะต้องใช้ไกลโคเจนซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่ตับมาผลิตเป็นน้ำตาลทดแทน แต่หากอดอาหารนานเกินไป (มากกว่า 72 ชั่วโมง) โดยไม่รับประทานอาหารที่มีพลังงานเลย ไกลโคเจนจะถูกใช้ไปจนหมด จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ 
    • การผลิตอินซูลินมากเกินไป หากมีเนื้องอกในตับอ่อนชนิดที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน จะทำให้ร่างกายมีอินซูลินในกระแสเลือดมากกว่าปกติ จนส่งผลให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ทั้งนี้ เนื้องอกชนิดนึ้พบได้ไม่บ่อยนัก (ไม่ใช่โรคมะเร็งตับอ่อนที่พบทั่วไป)
    • ฮอร์โมนบกพร่อง การพร่องฮอร์โมนต่อมหมวกไตและฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองบางชนิด (ฮอร์โมนที่คุมการเจริญเติบโต หรือ Growth hormone) ซึ่งอาจเกิดจากมีเนื้องอกที่ต่อมดังกล่าว ต่อมถูกทำลาย หรือฝ่อจากการอักเสบ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตกลูโคส

    อาการ น้ำตาลในเลือดต่ำ

    อาการน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจมีดังนี้

    • วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
    • ปวดศีรษะ
    • สับสน มึนงง กระสับกระส่าย
    • รู้สึกโหย หิวบ่อย
    • ตัวสั่น มือสั่น
    • เหงื่อออกมาก ตัวเย็น
    • รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
    • หากมีอาการน้ำตาลต่ำในขณะหลับ อาจฝันร้าย รู้สึกนอนไม่พอเมื่อตื่นนอน เหงื่อออกมากขณะนอนหลับจนเสื้อผ้าเปียก
    • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

    หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จนระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำมาก อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการซึม หมดสติ ชัก นอกจากนี้ อาจรุนแรงจนทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้

    วิธีรักษา น้ำตาลในเลือดต่ำ

    วิธีรักษาน้ำตาลในเลือดต่ำเบื้องต้น อาจทำได้ดังนี้

    สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน

    หากผู้ป่วยเบาหวานมีอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ แนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว หากพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้รีบรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวซึ่งร่างกายสามารถดูดซึมเร็ว เพื่อให้ได้รับคาร์โบไฮเดรตประมาณ 15 กรัม เช่น ลูกอม 3-5 เม็ด หรือน้ำตาลทราย/น้ำผึ้ง/น้ำเชื่อม 1 ช้อนโต๊ะ หรือน้ำหวาน/น้ำผลไม้ 1 แก้ว จากนั้นให้รับประทานอาหารที่เป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ขนมปังโฮลวีท 1 แผ่น ขนมปังกรอบ 2 ชิ้น กล้วย 1 ผล เพื่อให้ได้รับคาร์โบไฮเดรตอีก 15 กรัม เพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ดูดซึมอาหารดังกล่าว และช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างคงที่ หลังจากนั้นประมาณ 15 นาที จึงตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง หากยังมีระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มดังกล่าวซ้ำ แล้วตรวจระดับน้ำตาลอีกครั้ง และทำเช่นนี้จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงจะถือว่าปลอดภัย

    ในกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมากจนทำให้ผู้ป่วยซึม หมดสติ หรือไม่สามารถดื่มน้ำหวานหรือรับประทานอาหารได้ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล หรือเรียกรถพยาบาล เพื่อรีบให้การรักษาด้วยสารละลายน้ำตาลกลูโคสทางกระแสเลือด ไม่ควรพยายามป้อนอาหารหรือเครื่องดื่ม เนื่องจากอาจทำให้ผู้ป่วยสำลัก ซึ่งจะยิ่งเป็นอันตราย

    สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

    โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานจะไม่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำง่าย ๆ เนื่องจากร่างกายจะรักษาความสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติอยู่เสมอ แต่หากมีอาการน้ำตาลต่ำให้รักษาเบื้องต้นด้วยวิธีการเดียวกับผู้ที่เป็นเบาหวานดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการน้ำตาลต่ำ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนต่อมหมวกไต ภาวะไตวาย ภาวะตับวาย โรคมะเร็งบางชนิด และจะได้รักษาที่ต้นเหตุ

    วิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด น้ำตาลในเลือดต่ำ

    วิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำตาลต่ำ อาจมีดังนี้

    สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน

  • ตรวจสอบวิธีการรับประทานรวมถึงปริมาณยาลดระดับน้ำตาลและอินซูลินที่ใช้ให้ถูกต้องทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสมตามที่คุณหมอสั่ง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของตนด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วเป็นประจำ เบื้องต้นอาจทำการตรวจระดับน้ำตาลก่อนอาหารเช้าและเย็น รวมถึงช่วงเวลาที่เกิดอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยอาจปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่วงเวลาและความถี่ในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากอาจต่างกันไปในแต่ละบุคคล
  • สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน

    • ปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และเลือกชนิดและระดับความหนักของการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุครบถ้วน
    • อาจแบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็ก ๆ และรับประทานของว่างทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง โดยเลือกของว่างที่มีประโยชน์และไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เช่น ถั่วอบแห้ง โยเกิร์ต ผลไม้สด ไข่ต้ม นมจืด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา