backup og meta

น้ำตาลในเลือด สำคัญต่อร่างกายอย่างไร

น้ำตาลในเลือด สำคัญต่อร่างกายอย่างไร

น้ำตาลในเลือด หมายถึง น้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือด ซึ่งได้จากการบริโภคอาหารและผ่านกระบวนการย่อยกลายเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย โดยมีฮอร์โมนอินซูลินที่หลั่งจากตับอ่อน ทำหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะหากสูงหรือต่ำเกินไปอาจมีความเสี่ยงต่อปัญหา สุขภาพได้ เช่น โรคเบาหวาน

[embed-health-tool-bmi]

น้ำตาลในเลือด หมายถึงอะไร

น้ำตาลในเลือด หมายถึง น้ำตาลกลูโคสซึ่งเป็นชนิดของน้ำตาลที่พบได้มากที่สุดในเลือด ได้มาจากอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว ขนมปัง มันฝรั่ง เมื่อร่างกายรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเข้าไป

คาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยสลายและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดกลายเป็นพลังงานให้แก่อวัยวะและเซลล์ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

โดยมีฮอร์โมนอินซูลินซึ่งผลิตจากตับอ่อนทำหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลไปยังเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ และลำเลียงน้ำตาลซึ่งเกินจากที่ร่างกายต้องการไปยังตับ เพื่อสำรองไว้ในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตรูปแบบหนึ่ง

ส่วนฮอร์โมนกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งผลิตจากตับอ่อนเช่นกัน จะทำหน้าที่ตรงข้ามกับอินซูลิน คือช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ โดยการกระตุ้นให้ตับเปลี่ยนไกลโคเจนกลับเป็นกลูโคส แล้วส่งกลับเข้าสู่กระแสเลือด

น้ำตาลในเลือดสูง คืออะไร

น้ำตาลในเลือดสูง เป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งซึ่งมักพบในผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากร่างกายผลิตอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการสะสมของน้ำตาลมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติ จะอยู่ระหว่าง 70-99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อตรวจเลือดหลังอดอาหารแล้ว 8 ชั่วโมง

ในกรณีที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่านั้น หรือระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะหมายถึงมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือภาวะก่อนเบาหวาน หากมีระดับน้ำตาลตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป หมายถึง เป็นโรคเบาหวาน

นอกเหนือจากโรคเบาหวานแล้ว น้ำตาลในเลือดสูง อาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเครียด การรับประทานแป้งหรือน้ำตาลที่มากเกินไป การไม่ออกกำลังกาย

ยิ่งกว่านั้น น้ำตาลในเลือดสูงยังเป็นสาเหตุของอาการป่วย หรือภาวะแทรกซ้อนหลาย ๆ ประการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่

อาการผิดปกติเมื่อน้ำตาลในเลือดสูง

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ตาพร่ามัว
  • อ่อนเพลีย
  • ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยว
  • ปวดท้อง

ภาวะแทรกซ้อนจากน้ำตาลในเลือดสูง

  • หลอดเลือดถูกทำลาย ตีบหรือเปราะ จนทำให้การหมุนเวียนของเลือดในร่างกายผิดปกติ ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ
  • โรคไตจากเบาหวาน เนื่องจากหลอดเลือดในไตอาจถูกทำลายจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ไตซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรังได้
  • ภาวะเบาหวานขึ้นตา จอตาอาจเกิดภาวะขาดเลือดเนื่องจากน้ำตาลในเลือดสูงไปทำลายเส้นเลือดฝอยจนเสื่อมสภาพ อาจมีน้ำหรือเลือดรั่วซึมเข้าสู่ดวงตา ตาพร่ามัวหรือบอดได้
  • การติดเชื้อที่ฟัน เหงือก หรือผิวหนัง น้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดต่ำลงจึงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • เบาหวานลงเท้า เนื่องจากเส้นประสาทเสื่อมทำให้ชาหรือไร้ความรู้สึกบริเวณปลายมือหรือเท้า เมื่อเกิดแผลจึงไม่รู้สึก รักษาช้า แผลหายช้าหรือกลายเป็นแผลเรื้อรัง

น้ำตาลในเลือดต่ำ บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับร่างกาย

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การอดอาหาร หรือรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
  • การรับประทานคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป
  • อาการป่วย เช่น โรคตับแข็ง เนื้องอกที่ตับอ่อน
  • การออกกำลังกายมากเกินไป หรือใช้พลังงานมากเกินไป
  • การฉีดอินซูลินผิดวิธี หรือในปริมาณมากเกินไป ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน
  • รับประทานยาลดระดับน้ำตาลในเลือดเกินขนาด หรือเกินปริมาณที่คุณหมอสั่ง ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน

โดยอาการผิดปกติเนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ประกอบด้วย

  • ตัวสั่น
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • คลื่นไส้
  • หมดแรง ขาดพลังงาน
  • ปวดหัว
  • ฝันร้ายหรือร้องไห้ระหว่างนอนหลับ

ทั้งนี้ ในกรณีผู้ป่วยเบาหวาน หากน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างผิดปกติหรือเฉียบพลันอาจทำให้เป็นลมชักหรือหมดสติได้ จึงจำเป็นต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลที่เพิ่มหรือลดลงอย่างผิดปกติ

การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ

บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยเบาหวานควรรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ควรสูงหรือต่ำเกินไป

หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรปฏิบัติดังนี้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือประมาณ 150 นาที/สัปดาห์ เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการกระตุ้นให้ร่างกายใช้พลังงาน
  • ใช้อินซูลินตามคำแนะนำของคุณหมอ หรือในปริมาณที่เหมาะสมกับคาร์โบไฮเดรตที่บริโภคในแต่ละวันสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
  • เลือกรับประทานอาหาร โดยลดการบริโภคคาร์โบไฮเดรต และรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไฟเบอร์ให้มากขึ้น เพราะไฟเบอร์ช่วยให้คาร์โบไฮเดรตถูกดูดซึมช้าลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารไม่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด

หากมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรปฏิบัติดังนี้

  • รับประทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ/วัน และอาจเพิ่มมื้ออาหารว่างระหว่างมื้อหลัก เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำตาล
  • รับประทานของว่างก่อนออกกำลังกาย เช่น ขนมปังโฮลวีต เพื่อป้องกันระดับน้ำตาลต่ำลงอย่างเฉียบพลันระหว่างออกกำลังกาย ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน ก่อนการออกกำลังกาย คุณหมออาจแนะนำให้ลดสัดส่วนของยาโรคเบาหวานบางอย่างลงร่วมด้วย
  • ใช้อินซูลินอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยเบาหวาน ควรฉีดอินซูลินในระดับพอเหมาะ ไม่มากเกินไป และฉีดเข้ากล้ามเนื้ออย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของคุณหมอ

 

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Manage Blood Sugar. https://www.cdc.gov/diabetes/managing/manage-blood-sugar.html. Accessed  February 24, 2022

Hypoglycemia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypoglycemia/symptoms-causes/syc-20373685#:~:text=Hypoglycemia%20is%20a%20condition%20in,who%20don’t%20have%20diabetes. Accessed  February 24, 2022

Low blood sugar (hypoglycaemia). https://www.nhs.uk/conditions/low-blood-sugar-hypoglycaemia/. Accessed  February 24, 2022

The Digestive Process: What Is the Role of Your Pancreas in Digestion?. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/the-digestive-process-what-is-the-role-of-your-pancreas-in-digestion#:~:text=Your%20pancreas%20is%20important%20for,loss%2C%20call%20your%20healthcare%20provider. Accessed  February 24, 2022

Pancreas Function. https://pathology.jhu.edu/pancreas/basics/function. Accessed  February 24, 2022

What Is Glucose?. https://www.webmd.com/diabetes/glucose-diabetes#:~:text=Glucose%20comes%20from%20the%20Greek,cells%20for%20energy%20and%20storage. Accessed  February 24, 2022

Blood sugar testing: Why, when and how. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/in-depth/blood-sugar/art-20046628. Accessed  February 24, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/03/2023

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน วิธีรักษาและการควบคุม

Hypoglycemia คืออะไร อาการและความเสี่ยง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 28/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา