backup og meta

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน วิธีรักษาและการควบคุม

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน วิธีรักษาและการควบคุม

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน อาจเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน ใช้อินซูลินบำบัดผิดวิธี หากไม่ทำการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด ระบบประสาทเสื่อม โรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวานสามารถรักษาและควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน คืออะไร

อาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวาน คือ ภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มสูงเกินกว่า 200  มิลลิกรัม/เดซิลิตร จากค่าปกติที่ควรอยู่ประมาณ 99-140  มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ ดังนี้

อาการของผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ในระยะแรก ได้แก่

  • กระหายน้ำ
  • ปวดศีรษะ
  • ไม่มีสมาธิ
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
  • น้ำหนักลดลง
  • ปัสสาวะบ่อย
  • เหนื่อยล้า
  • ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  • ผิวแห้ง ปากแห้ง
  • น้ำตาลในเลือดสูงกว่า 180  มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

อาการของผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ในระยะรุนแรง ได้แก่

  • การติดเชื้อที่ผิวหนังและในช่องคลอด
  • หายใจถี่เร็ว
  • อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ
  • ลมหายใจมีกลิ่น
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง ท้องร่วง ท้องผูก 
  • วิงเวียนศีรษะ อาเจียน
  • แผลหายช้า
  • มองเห็นภาพซ้อน
  • กระสับกระส่าย นอนบ่อย หรืออาจนอนไม่หลับ

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน

โรคเบาหวานเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ที่ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน หรือจากการที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างเต็มที่ และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้ ดังนี้ 

  • รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมปังขาว ข้าวขาว พาสต้า 
  • ลืมฉีดอินซูลิน และไม่รับประทานยาตามที่คุณหมอแนะนำ
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ความเครียด 
  • การติดเชื้อ เนื่องจากอาจส่งผลให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ
  • ความเจ็บป่วย เช่น ไข้หวัด
  • ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ เพรดนิโซน (Prednisone)

วิธีรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน

วิธีรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยเบาหวาน สามารถทำได้ ดังนี้

  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อทราบถึงประสิทธิภาพของการรักษาว่าได้ผลหรือไม่ เพื่อควบคุมโรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารควรอยู่ 70-130 มิลลิลิตร/เดซิลิตร ส่วนระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารไม่ควรเกิน 180 มิลลิลิตร/เดซิลิตร หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่านี้ ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • รับประทานยารักษาเบาหวาน และฉีดอินซูลินตามที่คุณหมอแนะนำ เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดิน เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น เครื่องดื่มน้ำอัดลม อาหารแปรรูป ขนมหวาน
  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น เพราะน้ำอาจช่วยให้ร่างกายขับน้ำตาลส่วนเกินออกจากเลือดผ่านการปัสสาวะ

สำหรับผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงระดับรุนแรง ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยคุณหมออย่างเร่งด่วน เพื่อประเมินอาการว่าควรรักษาด้วยวิธีใดจึงจะเหมาะสม ส่วนใหญ่คุณหมออาจใช้วิธีรักษา ดังนี้

  • ให้สารน้ำเหลวผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อช่วยปรับสมดุลน้ำในร่างกาย เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจะทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะออกมาก จนร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง (ประมาณ 4-5 ลิตร)
  • ให้อินซูลินผ่านทางหลอดเลือด
  • ติดตามและควบคุมระดับเกลือแร่ (Electrolytes) เนื่องจากเกลือแร่สำคัญในร่างกายของผู้ป่วยจะผิดปกติ จนส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ กล้ามเนื้อ และ เซลล์ประสาท

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Manage Blood Sugar. https://www.cdc.gov/diabetes/managing/manage-blood-sugar.html . Accessed March 24, 2022.

Symptoms of High Blood Sugar. https://www.uofmhealth.org/health-library/aa21178 . Accessed March 24, 2022.

High Blood Sugar and Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/guide/diabetes-hyperglycemia. Accessed March 24, 2022.

Hyperglycaemia (high blood sugar). https://www.nhs.uk/conditions/high-blood-sugar-hyperglycaemia/. Accessed March 24, 2022.

Diabetes Tests. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/getting-tested.html . Accessed March 24, 2022.

วันเบาหวานโลก World Diabetes Day. https://www.rama.mahidol.ac.th/sdmc/sites/default/files/public/pdf/World_Diabetes_day57.pdf. Accessed March 24, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2022

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงต้องลดน้ำหนัก และควรลดแบบไหน

อาการโรคเบาหวานระยะสุดท้าย และการรับมือ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา