ง่วงนอนตลอดเวลา เบาหวาน เป็นอาการที่อาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานบางราย เกิดจากความอ่อนล้าของร่างกายที่อาจมีสาเหตุมาจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป หรือเกิดจากภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน เช่น โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด การติดเชื้อแทรกซ้อน รวมไปถึงความเครียด โรคนอนไม่หลับ และภาวะซึมเศร้า ที่อาจพบร่วมด้วยได้ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ภาวะสุขภาพเหล่านี้สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สดชื่น รู้สึกอ่อนเพลีย และง่วงนอนผิดปกติได้
[embed-health-tool-heart-rate]
ง่วงนอนตลอดเวลา เบาหวาน เกิดจากอะไร
ผู้ป่วยเบาหวานบางรายอาจมีอาการเซื่องซึม เหนื่อยล้า รู้สึกอ่อนล้า และอ่อนเพลียง่ายกว่าปกติ รวมไปถึงอาจรู้สึกง่วงนอน ไม่สดชื่น เกือบตลอดทั้งวัน โดยอาจมีสาเหตุมาจากความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การทำงานหนัก ทั้งยังอาจเกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งอาจมาจากระดับน้ำตาลในเลือดไม่สมดุลกับการทำงานของอินซูลินในร่างกาย ดังนั้น หากสังเกตว่าตนเองเหนื่อยล้าระหว่างวันหรือง่วงนอนตลอดเวลา แม้ว่าจะนอนหลับอย่างเพียงพอตลอด สิ่งนี้อาจเป็นอาการของระดับน้ำตาลที่สูงหรือต่ำไปเกินไปได้
นอกจากนี้ อาการอ่อนล้า ไม่สดชื่น หรือง่วงนอน ยังอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น ๆ ดังนี้
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและต่ำ โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคติดเชื้อ
- ปัญหาสภาพจิตใจและอารมณ์ เช่น โรคเครียด ภาวะซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ ที่อาจพบร่วมด้วยได้ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรืออาจเกิดจากผู้ป่วยมีรูปแบบการนอนที่ผิดปกติไป ทำให้หลับไม่สนิท จนรู้สึกอ่อนล้า
- ปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วน อาจทำให้เกิดโรคนอนกรนและเกิดปัญหาการนอนหลับตามมา รวมทั้งผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนยังอาจรู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียได้ง่ายในการทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เมื่อเทียบกับคนรูปร่างปกติ
- อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจากโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก น้ำหนักลดกะทันหัน อาจนำไปสู่อาการเหนื่อยล้าได้
- ปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เช่น การเจ็บป่วยเฉียบพลัน ความเครียด โรคโลหิตจาง ความไม่สมดุลของฮอร์โมน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคนอนกรน
วิธีจัดการกับอาการง่วงนอนตลอดเวลา เบาหวาน
วิธีรับมือกับอาการง่วงนอนตลอดเวลาจากเบาหวาน อาจทำได้ด้วยการจัดการปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย ทั้งยังช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นได้อีกด้วย
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง น้ำตาลต่ำ และโปรตีนสูง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว เมล็ดพืช ธัญพืช เนื้อหมู ไก่ ปลา
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทราบระดับน้ำตาลของตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้เหมาะสมขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ ควรนอนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และฝึกเข้านอนให้เป็นเวลา เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพ
- หากิจกรรมจัดการกับความเครียด เช่น ทำงานอดิเรก เล่นโยคะ ออกกำลังกาย นอนพักผ่อน วาดรูป ฟังเพลง พูดคุยกับเพื่อน
- ขอความร่วมมือหรือรับความช่วยเหลือจากครอบครัวและคนรอบข้าง เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง หากได้รับกำลังใจที่ดีทั้งจากครอบครัวและเพื่อนฝูงจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่โดดเดี่ยว ไม่เกิดความเครียดหรือซึมเศร้าในการดูแลตนเอง ช่วยให้มีสุขภาพจิตใจที่ดีในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น
- ดูแลรักษาโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีสุขภาพโดยรวมที่ดี ช่วยไม่ให้เกิดอาการเหนื่อยล้า