น้ำตาลตก หมายถึง ภาวะที่น้ำตาลในเลือดลดลงจากระดับปกติ หรือที่เรียกว่าภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจพบได้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ออกกำลังกายอย่างหนักหรือหักโหม หรือใช้ยาลดระดับน้ำตาลมากกว่าที่คุณหมอแนะนำ เมื่อ น้ำตาลตก จะอาการ ที่พบได้ คือ ปวดศีรษะ วิงเวียน ตัวสั่น หัวใจเต้นเร็ว และในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นชักหรือหมดสติซึ่งควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
[embed-health-tool-bmr]
น้ำตาลในเลือด มีความสำคัญอย่างไร
น้ำตาลในเลือด หมายถึง ระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือด ซึ่งเป็นน้ำตาลชนิดหลักที่เป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกายมนุษย์
โดยทั่วไป ระดับน้ำตาลในเลือดจะเพิ่มขึ้นหลังบริโภคอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ แป้งและน้ำตาล เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ตับอ่อนจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในสมดุลที่เหมาะสม โดยกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานแก่ร่างกาย รวมทั้งนำน้ำตาลส่วนที่เหลือไปเก็บไว้ที่ตับเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองในรูปแบบของไกลโคเจน (Glycogen)
อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุให้ตับอ่อนถูกทำลาย จนส่งผลให้ผลิตอินซูลินได้น้อยกว่าความต้องการของร่างกายหรือผลิตไม่ได้เลย จะส่งผลให้การควบคุมระดับน้ำตาลผิดปกติไป ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด
น้ำตาลในเลือดแต่ละระดับ มีความหมายอย่างไร
การตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดแบบอดอาหารสามารถแปลผล ได้ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ระดับน้ำตาลในเลือด 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หมายถึง เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือด 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง มีภาวะก่อนเบาหวานหรือเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
หากผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล ไม่ว่าช่วงเวลาใด ๆ แล้วมีค่าต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะหมายถึง มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วโดยการบริโภคคาร์โบไฮเดรต เผื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลยิ่งลดต่ำลง
น้ำตาลตก อาการ เป็นอย่างไร
หากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงกว่าปกติ หรืออยู่ในระดับที่เรียกว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- หมดแรง อ่อนเพลีย ง่วง ซึม
- ตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
- ตัวสั่น มือสั่น
- หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ตัวเย็น
- เหงื่อออกมาก
- ตื่นตระหนก วิตกกังวล ตกใจง่าย
- คลื่นไส้
- รู้สึกหิวมากเป็นพิเศษ
- หมดสติ ชัก
หากผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง อาจทำให้ร่างกายชินกับการมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จนทำให้ไม่เกิดอาการเตือนตั้งแต่ระยะแรก ๆ แต่จะเกิดอาการก็ต่อเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลงมากจนเข้าสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำรุนแรง เช่น หมดสติ ซึม ชัก และอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยเบาหวานบางรายที่ควบคุมเบาหวานได้ไม่ดี ร่างกายจะคุ้นเคยกับระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรัง ทำให้เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ก็อาจมีอาการคล้ายภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ แม้ระดับน้ำตาลในเลือดจะยังไม่ต่ำกว่าเกณฑ์หรือยังไม่ถึงระดับน้ำตาลต่ำตามเกณฑ์ก็ตาม
น้ำตาลตก ควรดูแลตัวเองอย่างไร
หากพบอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ สามารถแก้ไขอาการเบื้องต้นได้ ด้วยการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลในปริมาณ 15-20 กรัม เช่น น้ำหวาน 1 แก้ว น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา ลูกอม 2 เม็ด แล้วหลังจากนั้น 15 นาที ให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดซ้ำ หากระดับน้ำตาลในเลือดยังต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้รับประทานคาร์โบไฮเดรตข้างต้นซ้ำ แล้ววัดระดับน้ำตาลอีก จนกว่าระดับน้ำตาลจะขึ้นมาสูงกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จึงจะถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ หากแก้อาการน้ำตาลต่ำเบื้องต้นแล้ว อาการไม่ทุเลา หรือมีอาการน้ำตาลต่ำในระดับรุนแรง เช่น ชัก หมดสติ ซึม ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
น้ำตาลตก อาการ ที่เกิดขึ้น ป้องกันได้อย่างไร
ผู้ป่วยเบาหวานอาจป้องกันน้ำตาลตกหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- รับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ตรงเวลา และในปริมาณที่เหมาะสม
- หากต้องการงดอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนัก (เช่น การทำ IF หรือ Intermittent Fasting) หรือต้องการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน ควรปรึกษาคุณหมอก่อน เนื่องจากอาจต้องปรับลดยาให้เหมาะสมกับมื้ออาหาร
- ฉีดอินซูลินและรับประทานยาลดระดับน้ำตาลในขนาดที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ผู้ที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน ให้ฉีดยาเข้าสู่ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เช่น ที่บริเวณหน้าท้อง ต้นขา หลีกเลี่ยงการฉีดอินซูลินเข้ากล้ามเนื้อ เนื่องจากจะทำให้อินซูลินถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเร็วเกินไป จนอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม หากต้องการออกกำลังกายที่หนักกว่าปกติ อาจปรึกษาคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำและปรับยา หรืออาจรับประทานของว่างประเภทคาร์โบไฮเดรตก่อนออกกำลังกายที่ต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม