backup og meta

ค่าน้ำตาลปกติ อยู่ที่เท่าไหร่ และแบบไหนที่อาจเป็นอันตราย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    ค่าน้ำตาลปกติ อยู่ที่เท่าไหร่ และแบบไหนที่อาจเป็นอันตราย

    น้ำตาลในเลือด คือ น้ำตาลกลูโคสที่ได้จากกระบวนการย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์ในร่างกาย ซึ่งสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้นควรดูแลสุขภาพให้ดี เพื่อควบคุมและรักษาให้ ค่าน้ำตาลปกติ ป้องกันไม่ให้ค่าน้ำตาลสูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

    ค่าน้ำตาลในเลือดมีความสัมพันธ์กับร่างกายอย่างไร

    การตรวจค่าน้ำตาลในเลือด คือ การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคส ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวที่ได้จากการย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ ข้าว ขนมปัง พาสต้า รวมไปถึงอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล จากนั้นน้ำตาลกลูโคสจะถูกนำส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงาน หากร่างกายมีค่าน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ถ่ายปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะหากปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังเป็นเวลานานยังอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อันตราย เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด โรคปลายประสาทอักเสบ ภาวะเบาหวานขึ้นตา ภาวะตาบอด โรคหัวใจและหลอดเลือด

    ค่าน้ำตาลปกติ อยู่ที่เท่าไหร่

    ค่าน้ำตาลปกติ จะแตกต่างกันไปตามวิธีตรวจน้ำตาลในเลือด ส่วนใหญ่มักใช้การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งค่าปกติ ไม่ควรสูงกว่า 99 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แต่หากทำการตรวจความทนต่อน้ำตาล ซึ่งสามารถทำได้โดยตรวจค่าระดับน้ำตาลหลังจากให้ดื่มสารละลายกลูโคส 75 กรัมเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ค่าน้ำตาลปกติ จะไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    สำหรับค่าน้ำตาลในเลือดที่ผิดปกติ อาจแบ่งได้คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

    • ค่าน้ำตาลในเลือดต่ำ หากตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือด (ไม่ว่าจะช่วงเวลาใด) แล้วมีค่าต่ำกว่า 55 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก (โดยที่ไม่รับประทานอาหาร) การอดอาหารเป็นเวลานาน การออกกำลังกายหักโหม หรือการใช้ยาลดระดับน้ำตาลอย่างไม่เหมาะสม หรือมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคไต โรคตับ ภาวะพร่องฮอร์โมนต่อมหมวกไต โดยผู้ที่มีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจมีอาการใจสั่น เหงื่อออกมาก วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรง กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจรุนแรงจนทำให้ชัก ซึม หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
    • ค่าน้ำตาลในเลือดสูง หากทำการตรวจระดับน้ำตาลหลังอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วมีค่าสูงตั้งแต่ 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตรเป็นต้นไป จะนับว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยแบ่งเป็น
    • ระดับน้ำตาล 100 – 125  มิลลิกรัม/เดซิลิตร : ระดับน้ำตาลเกินเกณฑ์ มีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน หรือเรียกว่ามีภาวะก่อนเบาหวาน
    • ระดับน้ำตาลสูงตั้งต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป : เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน

    แต่หากตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยที่ไม่ได้งดอาหาร แล้วมีระดับน้ำตาลสูงเกินกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานได้เช่นกัน 

    ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป การขาดการออกกำลังกาย ความเครียด ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน โดยอาจทำให้เกิดรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า น้ำหนักลดลงกะทันหัน รู้สึกหิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย ถ่ายปัสสาวะบ่อย ชาปลายมือปลายเท้า มองเห็นไม่ชัดเจน สายตาพร่ามัว

    วิธีช่วยควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ

    วิธีการดูแลสุขภาพที่จะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจทำได้ดังนี้

    รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

    เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสีและไขมันดี เช่น กะหล่ำดอก ผักคะน้า ผักกาดขาว แครอท ฝรั่ง แอปเปิล มะเขือเทศ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ส้ม ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้อง อัลมอนด์ ถั่วลิสง ปลาทู ปลาแซลมอน น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน

    ควบคุมอาหาร

    แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล แป้ง และไขมันสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ข้าวขาว ขนมปังขาว ข้าวโพด มันฝรั่ง ของทอด เค้ก โดนัท บราวนี่ คุกกี้ น้ำอัดลม เบียร์ ไวน์ น้ำผลไม้ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงขึ้น และควบคุมเบาหวานได้ยาก ควรเน้นบริโภคอาหารกลุ่มที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากข้าวหรือแป้งไม่ขัดสี ผัก เนื่องจากมีใยอาหารสูง ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นสูงมากหลังรับประทาน และยังทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้นด้วย 

    การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

    ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ โดยเลือกการออกกำลังกายในความเข้มข้นระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ๆ นอกจากจะช่วยเผาผลาญน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินของร่างกายด้วย จึงสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ได้

    การรักษาด้วยยาลดระดับน้ำตาลในเลือดหรืออินซูลิน

    หากผู้ป่วยเบาหวานปรับพฤติกรรมสุขภาพแล้วยังมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย คุณหมออาจพิจารณาเริ่มการรักษาด้วยการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด หรือในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน ซึ่งในปัจจุบันมียาลดระดับน้ำตาลหลายชนิด ออกฤทธิ์ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในกลไกต่างกันไป คุณหมอจะพิจารณาเลือกยาที่เหมาะสมซึ่งอาจจะตกต่างกันในแต่ละบุคคล

    ตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง

    การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองสามารถทำได้โดยการใช้เครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วที่ได้มาตรฐาน ในชุดตรวจจะประกอบด้วยเครื่องตรวจระดับน้ำตาล แถบทดสอบสำหรับหยดเลือด ชุดเข็มทางการแพทย์สำหรับใช้เจาะเลือดปลายนิ้ว โดยวิธีการตรวจเบื้องต้น มีดังนี้

    1. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ จากนั้นเช็ดมือให้แห้งสนิท
    2. เปิดเครื่องตรวจระดับน้ำตาลและนำแถบทดสอบสอดเข้ากับเครื่องตรวจ
    3. เช็ดแอลกอฮอล์บริเวณปลายนิ้วมือที่จะเจาะเลือด โดยควรเลือกนิ้วมือข้างที่ไม่ถนัดและไม่ค่อยได้ใช้งาน เช่น นิ้วกลางหรือนิ้วนางมือซ้าย สำหรับผู้ที่ถนัดขวา
    4. เจาะเลือดด้วยชุดเข็มเจาะเลือดที่บริเวณปลายนิ้วและบีบปลายนิ้วเบา ๆ ให้เลือดหยดลงบนแถบกระดาษทดสอบ
    5. ทำความสะอาดปลายนิ้วมือและปิดแผลเพื่อห้ามเลือด
    6. รออ่านค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ปรากฏขึ้นบนจอ

    ตรวจสุขภาพประจำปี

    เพื่อรับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคร่วมอื่น ๆ เนื่องจากโรคบางอย่าง เช่น โรคไขมันพอกตับ โรคอ้วน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา