ภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน อาจแบ่งออกเป็นภาวะแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลัน ที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำมากจนเกินไป เป็นภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินที่ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างเร่งด่วน และภาวะแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นจากอวัยวะและการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติไป เนื่องจากปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นตา ภาวะเท้าเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานรวมทั้งคนในครอบครัว ควรช่วยกันดูแลสุขภาพของผู้ที่เป็นเบาหวานให้ดี ควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
[embed-health-tool-heart-rate]
ภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน มีอะไรบ้าง
ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน หลัก ๆ อาจแบ่งออกเป็นภาวะแทรกซ้อนชนิดเฉียบพลันและภาวะแทรกซ้อนชนิดเรื้อรัง ดังนี้
ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานชนิดเฉียบพลัน
เป็นภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินที่สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะเพิ่งเป็นเบาหวานมาไม่นาน หรือบางครั้งก็เป็นอาการแรกที่ทำให้ผู้ป่วยตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวาน
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจเกิดจากการรับประทานยาหรือฉีดอินซูลินที่ไม่สัมพันธ์กับมื้ออาหาร ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากจนเกินไป จนเกิดอาการสับสน มึนงง รู้สึกเพลีย ไม่มีแรง เหงื่อออกมากผิดปกติ ตัวเย็น บางครั้งอาจทำให้อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด วิตกกังวล ใจสั่น หน้าซีด หัวใจเต้นเร็ว มองเห็นภาพซ้อน รู้สึกหิวมาก ปวดหัว หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้ซึม หมดสติ ชัก และหัวใจหยุดเต้นได้
- ภาวะไฮเปอร์ไกลซีมิกไฮเปอร์ออสโมล่าร์ (Hyperosmolar Hyperglycemic State หรือ HHS) เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก (สูงตั้งแต่ 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป) ร่วมกับร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียมาก อาจปัสสาวะบ่อยในช่วงแรก แต่ต่อมาเมื่อร่างกายขาดน้ำจะปัสสาวะลดลงรวมถึงปัสสาวะสีเข้มกว่าปกติมาก ซึมลง สับสน นอนหลับมากกว่าปกติ และอาจหมดสติได้
- ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA) คือ ภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับเลือดเป็นกรดมากกว่าปกติเนื่องจากสารคีโตน ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อย หายใจหอบเร็ว ปวดท้อง คลื่นไส้ บางรายลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยวเหมือนผลไม้ ซึ่งเป็นกลิ่นจากสารคีโตน
ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานชนิดเรื้อรัง
เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเมื่อควบคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดีต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จนส่งผลให้อวัยวะและระบบการทำงานของร่างกายเกิดความเสียหายโดยรวม ที่พบบ่อย มีดังนี้
- ปัญหาสุขภาพตา โรคเบาหวานขึ้นตา ส่งผลต่อการมองเห็นของผู้ป่วยในระยะยาวได้ ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจึงควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยทุกปี เพื่อช่วยป้องกันและคัดกรองภาวะนี้
- ปัญหาสุขภาพเท้า เนื่องจากเมื่อควบคุมเบาหวานได้ไม่ดีจะทำให้เส้นประสาทและเส้นเลือดส่วนปลายเสื่อมลง ทำให้การไหลเวียนของเลือดและการรับความรู้สึกที่เท้าผิดปกติไป เมื่อเท้าชาจึงอาจทำให้เสี่ยงเกิดบาดแผลโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งแผลยังหายช้า และเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย จนอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง และหากมีแผลเนื้อตายที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น ก็อาจต้องตัดอวัยวะส่วนนั้น ๆ ทิ้ง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้หลอดเลือดเสื่อมลง ผนังหลอดเลือดมีไขมันมาสะสม จึงเสี่ยงเกิดหลอดเลือดตีบและอุดตันได้ง่าย
- ไตเสื่อม ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องและความดันโลหิตสูง ส่งผลให้กลุ่มของหลอดเลือดฝอยที่ไตซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียทำงานผิดปกติไป นำไปสู่โรคไตเสื่อมเรื้อรังได้
- ปัญหาสุขภาพช่องปาก เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จะทำให้มีน้ำตาลในน้ำตาลเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้แบคทีเรียในช่องปากเจริญเติบโตได้ดีขึ้น และสร้างสารที่มีความเป็นกรดออกมา สารนี้จะไปทำลายเคลือบฟันและระคายเคืองเหงือก ส่งผลให้เป็นโรคปริทันต์ โรคเหงือกอักเสบ และเกิดปัญหาฟันผุได้ง่าย
- เส้นประสาทเสียหาย น้ำตาลในเลือดสูงส่งผลให้เส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งรับและส่งสัญญาณไปยังทุกส่วนของร่างกายทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า บางรายอาจมีอาการปวดหรือแสบร้อนได้
- ปัญหาสุขภาพผิวหนัง เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ จึงทำให้ผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียน้ำออกจากร่างกายด้วย และหากดื่มน้ำทดแทนได้ไม่เพียงพอ ร่างกายจะเริ่มมีภาวะขาดน้ำ ส่งผลให้ผิวแห้งลอก สีผิวหมองคล้ำ ผิวระคายเคือง และเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย
- ปัญหาสมรรถภาพทางเพศ เมื่อเส้นเลือดและเส้นประสาทเสื่อมลงเนื่องจากระดับน้ำตาลสูงเรื้อรัง จะส่งผลให้สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอยลงได้ โดยเฉพาะในเพศชาย อาจทำให้ความรู้สึกลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ไม่มีอารมณ์ทางเพศ
- ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลรอบข้างในการดูแลทั้งทางด้านสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจ หากดูแลได้ไม่ดี ทั้งอาการจากเบาหวาน และปัญหาในการใช้ชีวิตที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลได้
วิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
การดูแลสุขภาพที่ช่วยควบคุมโรคเบาหวานและช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเน้นรับประทานอาหารที่มีแป้งและไขมันต่ำ ไฟเบอร์สูง ได้แก่ ผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีนำตาลต่ำ และธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงยังช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหารอีกด้วย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์ ด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่มีความเข้มข้นปานกลาง เช่น เต้นแอโรคบิก ว่ายน้ำ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ๆ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือมีค่าดัชนีมวลกายอยู่ที่ 18.5-22.9 หากมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนควรลดน้ำหนักด้วยวิธีที่ที่ดีต่อสุขภาพ
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด โดยสามารถตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วได้ด้วยตนเองที่บ้าน เช่น ก่อนรับประทานอาหารเช้าและเย็น สลับกับหลังมื้ออาหาร หลังออกกำลังกาย เพื่อให้ทราบระดับน้ำตาลของตนเองอยู่เสมอ ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น
- พบคุณหมอตามนัด เพื่อติดตามการรักษาและควบคุมโรคเบาหวานให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ตรวจปัสสาวะและค่าการทำงานของไต ตรวจระดับไขมันในเลือด ตรวจจอประสาทตา