backup og meta

คอแห้งตลอดเวลา เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคเบาหวาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    คอแห้งตลอดเวลา เกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคเบาหวาน

    อาการ คอแห้งตลอดเวลา เป็นอาการหนึ่งที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี เกิดจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงทำให้ไตขับน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกายทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะบ่อย จนอาจเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ ทำให้รู้สึกคอแห้งตลอดเวลา หรือกระหายน้ำอยู่เสมอ ดังนั้นหากผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วยวิธีต่าง ๆ อาทิ การประบพฤติกรรมสุขภาพ การฉีดอินซูลิน การรับประทานยาลดระดับน้ำตาล อาการคอแห้งตลอดเวลาก็จะบรรเทาลงและหายไปในที่สุด

    ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึง คอแห้งตลอดเวลา

    ในสภาวะปกติ ไตจะกรองและดูดกลับน้ำตาลเก็บเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อเก็บไว้ใช้เป็นพลังงาน จึงทำให้ไม่มีน้ำตาลหลุดหรือรั่วออกมาในปัสสาวะ 

    หากเป็นโรคเบาหวานแล้วควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อระดับน้ำตาลสูงกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกายทางปัสสาวะ ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะบ่อย เป็นการเสียน้ำออกจากร่างกายมากกว่าปกติ ร่างกายจึงกระตุ้นให้รู้สึกคอแห้ง กระหายน้ำ เพื่อให้ดื่มน้ำทดแทนให้เพียงพอกับที่เสียไป แต่หากดื่มน้ำทดแทนได้ไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดน้ำซึ่งเป็นสาเหตุของอาการคอแห้งหรือปากแห้งตลอดเวลา

    อาการอื่น ๆ ของโรคเบาหวาน ที่อาจเกิดขึ้นได้พร้อมกับอาการคอแห้งตลอดเวลา ประกอบด้วย

    • รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
    • ตา ปาก และผิวแห้ง
    • ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
    • ปัสสาวะบ่อย ตอนกลางคืนต้องตื่นมาปัสสาวะหลังจากนอนหลับไปแล้ว
    • รู้สึกชาที่มือหรือเท้า
    • รู้สึกหิวบ่อย
    • น้ำหนักลดลงแบบไม่ทราบสาเหตุ
    • แผลหายช้า

    คอแห้งตลอดเวลา มีข้อเสียอย่างไรบ้าง

    เมื่อผู้ป่วยเบาหวานคอแห้งตลอดเวลา อาจบ่งบอกถึงร่างกายกำลังมีภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้ มีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน ปวดหัว อ่อนเพลีย หรือเป็นลม และหากดื่มน้ำทนแทนได้ไม่เพียงพอหรือยังคงปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ ความรุนแรงของภาวะร่างกายขาดน้ำจะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้าย อาจมีปัสสาวะลดลง เนื่องจากไตวาย หรือ ผู้ป่วยซึม สับสน เนื่องจากเกิดภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูงได้  

    นอกจากนี้ เมื่อร่างกายขาดน้ำ การผลิตน้ำลายในช่องปากจะลดลง เสี่ยงต่อการเกิดปัญาในช่องปาก เช่น ฟังผุ เคลือบฟันไม่แข็งแรง และ ปัญหากลิ่นปากจากเศษอาหารที่ติดตามซอกซอกฟัน  นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเหงือกอักเสบ และ การติดเชื้อในช่องปากอีกด้วย

    คอแห้งตลอดเวลาเนื่องจากเบาหวาน รักษาอย่างไร

    นอกจากการดื่มน้ำทดแทน เพื่อช่วยบรรเทา อาการคอแห้ง และชดเชยการเสียน้ำของร่างกายแล้วแล้ว  ผู้ป่วยเบาหวานยังสามารถดูแลตนเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไปด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีเส้นใยสูง แป้งและน้ำตาลต่ำ ออกกำลังกายเป็นประจำ และคุณหมออาจใหการรักษา ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • ฉีดอินซูลินทดแทน โดยในปัจจุบันการใช้ยาฉีดอินซูลินมักมาในรูปแบบของการใช้ปากกาฉีดอินซูลิน (อาจมีการใช้ยาแบบดั้งเดิมคือ การดูดยาอินซูลินจากขวด แล้วฉีดเข้าสู่ร่างกายด้วยเข็มฉีดยา) ซึ่งจะฉีดเข้าชั้นไขมันใต้ผิวหนัง บริเวณหน้าท้อง ต้นแขน และ ต้นขา นอกจากนี้ยังมีการใช้อินซูลินปั๊ม (Insulin Pump) ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กๆ ซึ่งบรรจุอินซูลินไว้ แล้วค่อย ๆ ปล่อยอินซูลินที่ละน้อยเข้าสู่ร่างกายตลอดเวลาตามปริมาณที่กำหนด 
    • การรับประทานยา ในปัจจุบันมียาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทานหลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ที่กลไกลต่างกันออกไป ทั้งนี้คุณหมอจะพิจารณาเลือกใช้ยาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย 
    • ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีโรคอ้วนร่วมด้วย นอกเหนือจากการปรับพฤติกรรมสุขภาพ และ การเลือกใช้ยาที่ช่วยลดน้ำหนักที่ได้รับรองจากอ.ย.แล้ว การผ่าตัดกระเพาะอาหารให้เล็กลง หรือ ตัดต่อลำไส้เพื่อการดูดซึม ยังเป็นอีกวิธีการรักษาที่นอกจากจะลดน้ำหนักตัวลงได้แล้ว ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

    คอแห้งตลอดเวลาเนื่องจากเบาหวาน ป้องกันอย่างไร

    แนวทางการป้องกันมิให้เกิดอาการคอแห้งเบาหวาน คือ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมิให้สูงจนเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายเสียน้ำและนำไปสู่อาการคอแห้งตลอดเวลา โดยมีแนวทางเบื้องต้นดังนี้

    • ดื่มน้ำมาก ๆ ให้เพียงพอในแต่ละวัน หรือประมาณวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตร/วัน เป็นอย่างน้อย 
    • ฉีดอินซูลิน หรือรับประทานยาลดระดับน้ำตาล ตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ไม่ปรับขนาดยาเองโดยไม่ปรึกษาคุณหมอก่อน 
    • ควบคุมอาหาร โดยจำกัดปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้ลดลง เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยและเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้นได้มากกว่าการบริโภคอาหารจำพวกอื่น
    • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิก การปั่นจักรยาน รวมไปถึงการเล่นกีฬาอื่น ๆ 
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เช่น เค็ม เผ็ด รวมไปถีงอาหารที่ปรุงโดยใช้ผงซูรสเนื่องจากจะยิ่งทำให้กระหายน้ำมากกว่าเดิม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา