การเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ส่งผลต่อสมดุลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกาย กล่าวคือ ร่างกายมีฮอร์โมนที่มีฤทธิ์ต้านกับอินซูลินมากขึ้น จึงทำให้คุณแม่บางรายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และนำไปสู่ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ได้ วิธีการดูแลตัวเอง และ วิธีลดน้ำตาลในเลือดคนท้อง อาจทำได้หลายวิธี เช่น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายเบา ๆ ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
[embed-health-tool-due-date]
ค่าน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมสำหรับผู้เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ระดับน้ำตาลในเลือดที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีดังนี้
- ระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหาร ไม่ควรเกิน 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
วิธีลดน้ำตาลในคนท้อง ทำได้อย่างไรบ้าง
การดูแลตัวเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของคนท้อง อาจทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม
คุณแม่ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตขัดสีแต่น้อย เลี่ยงอาหารจำพวกข้าวขาว ขนมปังขาว ขนมหวาน น้ำหวานและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และอาหารแปรรูป เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการอย่างครบถ้วน และควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชเต็มเมล็ด ข้าวกล้อง พืชตระกูลถั่ว เพราะสามารถช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นสูงเร็วจนเกินไป อีกทั้งใยอาหารยังมีส่วนช่วยในการขับถ่าย และป้องกันอาการท้องผูก ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยของคนท้อง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้ดีและมากขึ้น จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยแนะนำให้คนท้องออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำ (Lower Impact Cardio Exercise) เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อทารกในครรภ์ โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเนือยนิ่ง
แนะนำให้คนท้องขยับร่างกายในกิจวัตรประจำวันอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่กับที่หรือนอนนาน ๆ ควรหากิจกรรมและใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง เพราะสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทั้งนี้ คนท้องควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่หักโหมเกินไป หากมีอาการเหนื่อยหรือเจ็บท้องให้หยุดพักทันที และหากอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องไปพบคุณหมอเพื่อตรวจเพิ่มเติม
- ควบคุมน้ำหนักตัวทั้งในช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ผู้ที่จะวางแผนมีลูกควรควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น เช่น หลีกเลี่ยงอาหารมัน ๆ ทอด ๆ อาหารที่มีส่วนประกอบของแป้งและน้ำตาลสูง เลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำให้มากขึ้น ออกกำลังกายเป็นประจำ ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ พฤติกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุขภาพดี แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ของทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย
[embed-health-tool-bmi]
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในคนท้อง
หากคนท้องมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจนำไปสู่ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ โดยฮอร์โมนจากรกและฮอร์โมนอื่น ๆ อีกหลายชนิดมีระดับเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต้านฤทธิ์กับฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้คนท้องบางรายมีระดับในเลือดสูงขึ้น และทำให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตามมา
โดยทั่วไป คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้ทราบ และมักตรวจพบด้วยการตรวจคัดกรองเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ โดยคุณหมอจะตรวจด้วยการวัดความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกายด้วยวิธีที่อาจเรียกง่าย ๆ ว่า การกลืนน้ำตาล (Oral glucose tolerance test หรือ OGTT)
ทั้งนี้ เบาหวานขณะตั้งครรภ์มักหายได้เองหลังคลอด เนื่องจากระดับฮอร์โมนกลับสู่ปกติ น้ำตาลในเลือดจึงลดลงกลับสู่ภาวะปกติตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากกว่าผู้หญิงที่อายุเท่า ๆ กัน จึงแนะนำให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำอย่างน้อยทุก ๆ ปี เพื่อเป็นการคัดกรองโรค
ภาวะแทรกซ้อนหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงระหว่างตั้งครรภ์
หากคนท้องไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เป้าหมายได้ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อของทั้งตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ ดังนี้
ผลกระทบต่อสุขภาพมารดา
- เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) ที่ทำให้คนท้องมีความดันโลหิตขึ้นสูง ขาหรือเท้าบวม จุกแน่นท้อง ปวดศีรษะ มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ซึ่งอาจรุนแรงจนทำให้เกิดอาการชักและแท้งบุตรได้ ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ภาวะคลอดยาก และการติดเชื้อหลังคลอดได้
- เพิ่มความเสี่ยงของการผ่าคลอด เนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่เกินไปจนคุณแม่ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดตามปกติได้ และอาจทำให้ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าคุณแม่ที่คลอดธรรมชาติ
ผลกระทบต่อทารกในครรภ์
- เพิ่มความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอวัยวะต่าง ๆ ของทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหายใจลำบากตั้งแต่กำเนิด (Respiratory distress syndrome) เนื่องจากปอดยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่
- ภาวะคลอดติดไหล่ เนื่องจากทารกตัวโต หากคลอดธรรมชาติอาจเสี่ยงเกิดภาวะคลอดติดไหล่ ซึ่งอาจทำให้ทารกได้รับอุบัติเหตุระหว่างคลอด เช่น กระดูกไหปลาร้าหัก เส้นประสาทบริเวณใต้รักแร้เสียหาย หรืออาจขาดออกซิเจน เนื่องจากสายสะดือโดนกดทับระหว่างคลอด
- ภาวะพิการแต่กำเนิด (Birth defects) เช่น ความพิการของหัวใจและหลอดเลือด สมอง กระดูกสันหลัง ระบบทางเดินปัสสาวะ ไต อย่างไรก็ตาม มักพบในรายที่คุณแม่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมาก
- ภาวะตายคลอด (Stillbirth)
- ภาวะทารกตัวโต (Macrosomia) คือ มีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4,000 กรัม
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำช่วงแรกเกิด เนื่องจากทารกชินกับระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่ได้รับจากมารดาระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงแรกเกิดใหม่ ๆ ร่างกายจึงยังปรับตัวไม่ทัน จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ โดยในทารกอาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นชักได้