backup og meta

อาการน็อคเบาหวาน คืออะไร อันตรายหรือไม่

อาการน็อคเบาหวาน คืออะไร อันตรายหรือไม่

อาการน็อคเบาหวาน หรือ น้ำตาลต่ำ หมายถึง ภาะวะที่ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจเกิดจากจากการใช้ยาฉีดอินซูลินเกินขนาด การรับประทานยาลดระดับน้ำตาลมากเกินไป การออกกำลังกายหักโหมมากกว่าปกติ หรือการรับประทานอาหารผิดเวลา หรือ งดอาหารบางมื้อ ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง เซลล์ต่างๆในร่างกายขาดน้ำตาล จึงอาจทำให้เกิดอาการ มือสั่น/ตัวสั่น ใจสั่น อ่อนเพลียไม่มีเเรง ปวดศีรษะ/เวียนศีรษะ ตัวเย็น เหงื่อเเตก บางครั้งอาจมีอาการรุนเเรงจนทำให้ ชัก หมดสติ เเละอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเเละเสียชีวิตได้  ทั้งนี้ เมื่อเกิดอาการน้ำตาลต่ำ ควรรีบรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ลูกอม น้ำหวานหรือน้ำผลไม้ เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วและหากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการซ้ำ ๆ ควรรีบไปพบคุณหมอ

[embed-health-tool-bmi]

อาการน็อคเบาหวาน คืออะไร

อาการน็อคเบาหวานเป็นอีกชื่อเรียกหนึ่งของอาการช็อคน้ำตาล (Insulin Shock) หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งมักเกิดจากการได้รับยาฉีดอินซูลินหรือยาลดระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป หรือเกิดจากการรับประทานอาหารผิดเวลา/งดอาหารบางมื้อ จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำตาล ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือ น๊อคเบาหวาน จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายดังนั้นจึงเฝ้าระวังเเละป้องกันมิให้เกิดอาการดังกล่าว เเละ หากมีอาการควรแจ้งคุณหมอให้ทราบ เพื่อให้คำเเนะนำรวมถึงปรับการรักษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

อาการน็อคเบาหวาน เป็นอย่างไร

ผู้ที่มีอาการน๊อคเบาหวานหรือน้ำตาลต่ำ จะมีภาวะที่ร่างกายขาดน้ำตาล เซลล์ในระบบต่าง ๆ ของร่างกายจึงขาดพลังงานในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการดังนี้

  • ปวดศีรษะ/เวียนศีรษะ
  • หมดแรง อ่อนเพลีย ง่วงซึม
  • ตาพร่ามัว
  • หมดสติ สับสน ชัก

นอกจากอาการด้านบนเเล้ว โดยปกติเเล้ว เมือระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่าเกณฑ์ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอีพิเนฟรีน (Epinephrine) หรืออะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมาเพื่อช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งจะส่งผลให้ มีอาการ

  • ตัวสั่น มือสั่น
  • หัวใจเต้นเร็ว/เต้นผิดจังหวะ ทำให้รู้สึกใจสั่น หวิวๆ
  • ตัวเย็น
  • เหงื่อออกมาก
  • ตื่นตระหนก วิตกกังวล ตกใจง่าย
  • คลื่นไส้
  • หิวมากเป็นพิเศษ

อีกทั้งอาการน็อคเบาหวานอาจเกิดขึ้นขณะนอนหลับได้ โดยอาจทำให้มีอาการ ฝันร้าย หลัีบไม่สนิท เหงื่อออกชุ่มที่นอน เหนื่อยหลังรู้สึกตัวตื่น เป็นต้น

สาเหตุของอาการน็อคเบาหวาน

อาการน็อคเบาหวานหรือน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • การฉีดอินซูลินในปริมาณมากเกินไป
  • การฉีดอินซูลินเข้ากล้ามเนื้อ โดยการฉีดอินซูลินที่ถูกต้องจะให้ฉีดเข้าชั้นไขมันใต้ผิวหนัง เมือฉีดอินซูลินเข้ากล้ามเนื้อจีงส่งผลให้อินซูลินถูกดูดซึมเข้าสู่กระเเสเลือดอย่างรวดเร็ว ทำให้ณ ขณะนั้น ๆ มีอินซูลินสูงมากเกินไป จนทำให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • การอดอาหาร การงดรับประทานอาหารบางมื้อ การรับประทานอาหารผิดเวลา เนื่องจากยาลดระดับน้ำตาลบางชนิดออกฤทธิ์เป็นระยะเวลานาน ดังนั้นหากอดอาหาร หรือ รับประทานอาหารไม่ตรงมื้อไป จึงทำให้เกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • การบริโภคคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไป จึงทำให้ระดับยาในกระเเสเลือดหรืออินซูลิน มากเกินกว่าระดับน้ำตาลในเลือด จึงทำให้เกิดอาการน๊อคน้ำตาล
  • การออกกำลังกายมากเกินไป การออกกำลังกายจะกระตุ้นให้เซลล์กล้ามเนื้อยดึงน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากออกกำลังกายหักโหมหรือมากกว่าปกติ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำกว่าปกติได้
  • การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากโดยไม่รับประทานอาหาร เนื่องจากในการกำจัดแอลกอฮอล์ที่ตับจะได้สารที่ไปขัดขวาง กระบวนการผลิดน้ำตาลที่ตัวตับเอง ทำให้เมือระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มลดต่ำลงจากการที่ไม่ได้รับประทานอาหาร ตับกลับไม่สามารถผลิตน้ำตาลออกมาทดแทนได้เหมือนในภาวะอื่น ๆ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำลง

การดูแลตัวเอง เมื่อมีอาการน็อคเบาหวาน

เมื่อมีอาการน็อคเบาหวาน ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิด ควรให้การดูแลตามหลักที่เรียกว่า 15-15 ซึ่งแนะนำให้บริโภคคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลในปริมาณ 15-20 กรัม แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากนั้น 15 นาที หากระดับน้ำตาลในเลือดยังต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่ายังไม่ปลอดภัย ให้บริโภคคาร์โบไฮเดรตเพิ่มอีก 15 กรัม แล้ววัดระดับน้ำตาลอีกครั้ง หากยังไม่สูงขึ้น ควรรีบไปพบคุณหมอ

ทั้งนี้ หากมีอาการน็อคเบาหวาน แล้วไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกวิธี อาการจะยิ่งแย่ลง เนื่องจากสมองขาดน้ำตาลจนอาจทำให้เกิดอาการชักหรือหมดสติได้

อาการน็อคเบาหวานมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง

หากการดูแลตัวเองตามหลัก 15-15 เเล้วอาการไม่ดีขึ้น เมื่อไปพบคุณหมอ อาจได้รับการรักษาด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • ให้สารละลายน้ำตาลกลูโคสทางเส้นเลือด คุณหมอจะเลือกใช้วิธีการนี้โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการรุนเเรงเช่น หมดสติ ชัก หรือ ไม่สามารถรับประทานน้ำตาลทางปากได้
  • ฉีดกลูคากอน (Glucagon)ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน เพื่อกระตุ้นให้ตับปล่อยน้ำตาลที่กักเก็บไว้ออกมา

อาการน็อคเบาหวาน สามารถป้องกันได้อย่างไร

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอาจป้องกันอาการน็อคเบาหวานหรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้วอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วงที่เหมาะสมหรือไม่ เเนะหากมีระดับน้ำตาลปลายนิ้วลดลง เช่น ต่ำกว่า 80 มิลลกรัม/เดซิลิตร เเม้จะยังไม่มีอาการผิดปกติ อาจเว้นหรือลดปริมาณอินซูลินรวมไปถึงยาลดระดับน้ำตาลในมื้อนั้นๆลงชั่วคราว เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
  • ฉีดอินซูลินตามคำแนะนำของคุณหมอ และฉีดอินซูลินเข้าชั้นไขมันใต้ผิวหนังซึ่งเป็นวิธีการฉีดที่ถูกต้อง
  • รับประทานอาหารตรงเวลา ในปริมาณที่เหมาะสม เเละหากจะทำการอดอาหาร เช่น การควบคุมอาหารเเบบ Intermittent fasting หรือ IF รวมไปถึงการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อให้คำเเนะนำเเละปรับการรักษาให้สอดคล้องกับวิธีการรับประทานอาหาร
  • ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหม หรืออาจรับประทานของว่างที่มีคาร์โบไฮเดรตก่อนออกกำลังกายที่ต้องใช้พลังงานเยอะ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะน๊อคน้ำตาล

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Low blood sugar (hypoglycaemia). https://www.nhs.uk/conditions/low-blood-sugar-hypoglycaemia/. Accessed June 20, 2022

Hypoglycemia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypoglycemia/diagnosis-treatment/drc-20373689. Accessed June 20, 2022

Low Blood Glucose (Hypoglycemia). https://www.niddk.nih.gov/health-information/diabetes/overview/preventing-problems/low-blood-glucose-hypoglycemia. Accessed June 20, 2022

Hypoglycemia (Low Blood sugar). https://www.diabetes.org/healthy-living/medication-treatments/blood-glucose-testing-and-control/hypoglycemia. Accessed June 20, 2022

Hypoglycemia (Low Blood Sugar). https://www.webmd.com/diabetes/hypoglycemia-overview. Accessed June 20, 2022

Insulin Shock vs. Diabetic Coma. https://www.webmd.com/diabetes/insulin-shock-diabetic-coma#:~:text=%E2%80%9CInsulin%20shock%E2%80%9D%20is%20a%20common,hormone%20epinephrine%2C%20also%20called%20adrenaline. Accessed June 20, 2022

Insulin Shock and Insulin Reactions. https://www.webmd.com/diabetes/diabetic-shock-and-insulin-reactions. Accessed June 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/07/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ตับอ่อนอักเสบ อาการ และผลกระทบต่อโรคเบาหวาน

7อาการเบาหวาน การรักษา และวิธีควบคุมอาการ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 30/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา