backup og meta

เบาหวานลงไต ปัจจัยเสี่ยง และวิธีดูแลตัวเอง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 04/07/2022

    เบาหวานลงไต ปัจจัยเสี่ยง และวิธีดูแลตัวเอง

    เบาหวานลงไต หรือ โรคไตจากเบาหวาน อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ในอนาคต หากผู้ป่วยไม่ดูแลตนเองให้ดี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนนี้ ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และหากพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม และขอรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยเบาหวานลงไต 

    เบาหวานลงไต คืออะไร

    เบาหวานลงไต หรือโรคไตจากเบาหวาน (Diabetic Nephropathy) ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่เชื่อมโยงกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารพบได้บ่อยถึง 25% ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยมีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูง รวมถึงหลอดเลือด และเซลล์ต่าง ๆ ในไตถูกทำลาย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง ไตไม่สามารถกรองของเสียออกจากเลือดได้ หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจนำไปสู่ภาวะไตวายได้ในที่สุด

    ปัจจัยเสี่ยงเบาหวานลงไต

    เบาหวานลงไต นอกจากจะทำลายสุขภาพไตแล้ว ยังอาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โดยเฉพาะหากผู้ป่วยโรคเบาหวานมีปัจจัยเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานลงไตได้

  • สูบบุหรี่เป็นประจำระยะยาว
  • คอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • ความดันโลหิตสูง
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • นอกจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ นั่นคือ ปัจจัยทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวานลงไต อาจทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเบาหวานลงไต

    วิธีดูแลตัวเองเหล่านี้อาจช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานลงไตสามารถรับมือกับโรคได้ดีขึ้น

    • ออกกำลังกายเป็นประจำและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพราะช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานหรือแคลอรี่ ส่งผลดีต่อการควบคุมระดับความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด และน้ำหนักตัว
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่อาจเข้าไปทำลายสุขภาพไต 
    • เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดอาหารแปรูป ลดอาหารประเภทไขมัน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ควรเน้นรับประทานผัก ผลไม้แทน
    • ควบคุมความดันโลหิตให้ไม่เกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท และควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ ด้วยเครื่องวัดความดันโลหิตด้วยตัวเองที่หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป หรือขอเข้ารับการตรวจสุขภาพที่สถานพยาบาล
    • ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ เพราะอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของไต และเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้
    • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ อาการบวมของข้อเท้า อาการคลื่นไส้ ภาวะเบื่ออาหาร การถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น หากพบอาการดังกล่าว ควรเข้าพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 04/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา