backup og meta

เบาหวาน แห้ง คืออะไร เป็นอันตรายหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    เบาหวาน แห้ง คืออะไร เป็นอันตรายหรือไม่

    ภาวะ เบาหวาน แห้ง หรืออาจเรียกว่า ภาวะเบาหวานผอม มักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมเบาหวานไม่ถูกวิธี ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จนร่ายกายซูบผอม รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผู้ที่เป็นเบาหวานจึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมที่สุด ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมปริมาณของอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล และ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานแห้งและภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานอื่น ๆ

    เบาหวาน แห้ง คืออะไร

    เบาหวานแห้ง คือ ภาวะโรคเบาหวานที่เป็นมาอย่างเรื้อรัง โดยไม่ได้รับการควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี เนื่องจากเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง จะทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลจากเลือดเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงานได้ แม้จะน้ำตาลในเลือดสูงก็ตาม ร่างกายจึงจำเป็นต้องเผาผลาญสลายกล้ามเนื้อและไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทน ส่งผลให้น้ำหนักลดลงเร็วผิดปกติ ร่างกายซูบผอม ไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งมักมาพร้อมกับอาการอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ผิวแห้งคัน ส่วนมากมักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เนื่องจากหากเมื่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี มักเสี่ยงเกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ง่าย อาการของภาวะเลือดเป็นกรดมักรุนแรงและฉับพลัน จำเป็นต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาเพื่อควบคุมระดับในน้ำตาลให้เหมาะสม ก่อนที่จะปล่อยให้มีระดับน้ำตาลจะสูงอย่างเรื้อรังจนทำให้เกิดเบาหวานแห้ง

    อาการของ เบาหวาน แห้ง

    อาการเบาหวานแห้ง จะเกิดขึ้นเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรัง โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • สายตาพร่ามัว
  • อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรง
  • กระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย
  • หิวบ่อย ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
  • ผิวแห้ง อาจมีอาการคันตามผิวหนัง
  • แผลหายช้าผิดปกติ
  • มีผื่นเป็นปื้นหนาสีคล้ำที่บริเวณหลังคอ ข้อพับ รักแร้ หรืออาจเรียกว่าโรคผิวหนังช้าง (Acanthosis Nigricans) 
  • น้ำหนักลดลงกะทันหัน โดยไม่ทราบสาเหตุ
  • เบาหวานแห้ง อันตรายหรือไม่

    เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะเบาหวานแห้ง ซึ่งมักพบในผู้ที่เป็นเบาหวานแล้วควบคุมไม่ดีมาอย่างเรื้อรัง ทำให้ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อเส้นประสาท หลอดเลือด และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ภาวะเบาหวานขึ้นตา โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคปลายประสาทอักเสบหรือเสื่อม จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยระดับน้ำตาลในเลือดที่เป็นเป้าหมายของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มีดังนี้

    • ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารควรอยู่ระหว่าง 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • ระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ผู้ป่วยควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมอยู่เสมอ หากมีน้ำหนักลดมากกว่า 5% ของน้ำหนักตัวเดิม หรือมีน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะอาจเป็นอาการที่บอกถึงการควบคุมเบาหวานไม่ดี และควรรีบรับการรักษาอย่างเหมาะสม

    ภาวะแทรกซ้อนเมื่อเป็นเบาหวานแห้ง

    ภาวะแทรกซ้อนเมื่อปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน อาจมีดังนี้

    โรคหัวใจและหลอดเลือด

    เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะทำให้หลอดเลือดเสื่อมลง มีไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือด หลอดเลือดยืดหยุ่นได้น้อยลง อีกทั้งยังเสี่ยงเกิดหลอดเลือดตีบหรืออุดตัน จึงเพิ่มความเสี่ยงโรคต่าง ๆ ของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง

    โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

    โรคเบาหวานเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากหลอดเลือดที่สมองได้รับผลกระทบจากการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเช่นกันจึงทำให้เกิดการเสื่อมของหลอดเลือดดังที่อธิบายด้านบน จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาต เนื่องจากสมองขาดเลือดและออกซิเจนไปเลื้ยง 

    โรคเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)

    ระดับน้ำตาลในเลือดสูงยังส่งผลให้เส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทเสียหาย โดยมักเกิดกับเส้นประสาทส่วนปลายก่อน เช่น เส้นประทานที่บริเวณปลายเท้าหรือขา ทำให้รู้สึกชา หรือบางรายมีอาการปวด แสบร้อน และมักเริ่มจากส่วนปลายนิ้วเท้าไล่ขึ้นมาเรื่อย ๆ หากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ นอกจากนี้ ความเสียหายของเส้นประสาทยังอาจส่งผลต่อเส้นประสาทของระบบอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ระบบบย่อยอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ทั้งยังอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้อีกด้วย

    ภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง

    เบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีอาจทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า เบาหวานลงไต เนื่องจากที่ไตจะมีกลุ่มของขดหลอดเลือดขนาดเล็กที่ทำหน้าที่ในการกรองของเสียจากกระแสเลือดทิ้งทางปัสสาวะ แต่หากปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้กลุ่มของหลอดเลือดฝอยดังกล่าวเสียหาย  ประสิทธิภาพการกรองของเสียจากไตจึงลดลงเรื่อย ๆ และนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการฟอกไตในที่สุด

    ความเสียหายต่อจอประสาทตา

    โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดีอาจทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา ซึ่งเกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงมานานหลายปี ทำให้หลอดเลือดในจอประสาทตาซึ่งทำหน้าที่รับแสงเสื่อมลง การมองเห็นและการรับภาพจึงผิดปกติไป เช่น มองเห็นภาพไม่คมชัด มองเห็นภาพเป็นคลื่น เห็นจุดสีเข้ม มองเห็นสีเปลี่ยนไป นอกจากนี้ หากไม่ควบคุมเบาหวานให้เหมาะสม ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดต้อกระจก ต้อหิน และอาจทำให้ตาบอดได้ด้วย

    เบาหวาน แห้ง ควบคุมได้อย่างไรบ้าง

    ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแล้วมีน้ำหนักลดลง ซูบผอม เนื่องจากควบคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดีมาเป็นเวลานาน สามารถดูแลตนเองเบื้องต้น เพื่อกลับมาควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง และเพิ่มน้ำหนักอย่างสุขภาพดีได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

    • รับประทานอาหารเป็นมื้อ ๆ และเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง ควรควบคุมสัดส่วนของอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ เช่น รับประทานข้าวมื้อละไม่เกิน 2 ทัพพี เสริมสัดส่วนของอาหารกลุ่มโปรตีนที่มีประโยชน์เพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ เนื่องจากการรับประทานอาหารที่ไม่เป็นมื้อ รับประทานจุบจิบ หรือรับประทานอาหารบ่อยเกินไป จะยิ่งทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น 
    • เลือกประกอบอาหารด้วยไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน และรับประทานอาหารที่มีไขมันที่มีประโยชน์ เช่น อะโวคาโด ถั่ว เมล็ดพืช
    • รับประทานโปรตีนคุณภาพดี เช่น เนื้อแดงไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ปีกไม่ติดหนัง ปลาเนื้อขาว โยเกิร์ต คอทเทจชีสไขมันต่ำ เต้าหู้ เนยถั่ว นมไขมันต่ำ ไข่ขาว
    • อาจรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเสริมในบางมื้อ เช่น โยเกิร์ตไม่มีน้ำตาล ชีสไขมันต่ำ เนื่องจากอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพดี อีกทั้งยังมีแคลเซียม วิตามินดี เสริมสร้างกระดูก
    • เลือกรับประทานผักและผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และยังมีไฟเบอร์สูงซึ่งมีส่วนช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด เช่น ผักใบเขียว พริก บรอกโคลี มะเขือเทศ กะหล่ำดาว ฝรั่ง แอปเปิ้ล ส้ม
    • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน เพราะช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไตจะขับน้ำตาลส่วนเกินทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย จึงอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้หากดื่มน้ำทดแทนได้ไม่เพียงพอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา