backup og meta

แผลเบาหวาน สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

แผลเบาหวาน สาเหตุ การรักษาและการป้องกัน

แผลเบาหวาน เกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ทำให้ผิวหนังรักษาตัวเองได้ช้าลง เมื่อผู้ป่วยเบาหวานมีแผลเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถพัฒนากลายเป็นแผลที่ใหญ่ขึ้นและเสี่ยงติดเชื้อได้ โดยส่วนใหญ่แผลเบาหวานมักเกิดขึ้นบริเวณเท้า เนื่องจากเส้นเลือดตีบตันจนเลือดไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณเท้าได้ ทำให้เลือดไหลเวียนกลับมาไม่สะดวก ทำให้เกิดปลายประสาทอักเสบ ไม่รู้สึกเจ็บ เกิดบาดแผลได้ง่าย และเมื่อเกิดแผลจึงทำให้แผลหายช้า

สาเหตุที่ทำให้แผลเบาหวานหายช้า

แผลเบาหวาน ส่วนใหญ่เป็นแผลเปิดที่เท้าและอาจมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้แผลเบาหวานหายช้า อาจมีดังนี้

ความผิดปกติของหลอดเลือด

ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีภาวะเส้นเลือดตีบแข็งและอุดตันในเส้นเลือดแดงใหญ่และเส้นเลือดฝอย ทำให้เลือดไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ และเกิดเป็นแผลขึ้น พบบ่อยที่บริเวณปลายนิ้วเท้าและตำแหน่งการลงน้ำหนัก เช่น ส้นเท้า นอกจากนี้ การที่เลือดไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เพียงพอ ยังอาจส่งผลให้แผลที่เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น เช่น ตะปูตำ เล็บขบ หรือแผลจากการบาดเจ็บสมานตัวได้ช้าลง โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่ มีไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มการตีบตันของเส้นเลือดมากขึ้นอีกด้วย

การติดเชื้อแทรกซ้อน

ส่วนใหญ่แผลเบาหวานมักมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้ออื่น ๆ ร่วมด้วย ส่งผลทำให้แผลเกิดการอักเสบและลุกลามมากขึ้น ร่วมกับปัญหาเส้นเลือดฝอยอุดตันทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ จนอาจทำให้แผลไม่สมานตัวและมีกลิ่นเหม็นเน่า นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะแทรกซ้อนทางประสาทและหลอดเลือด อาจมีแนวโน้มทำให้แผลเบาหวานรักษายากยิ่งขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงที่คุณหมอจะรักษาอวัยวะเหล่านั้นไว้ได้ จนจำเป็นต้องตัดเนื้อตายส่วนนั้นทิ้งไป

ปลายประสาทเสื่อม

ปลายประสาทเสื่อมเป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมานานหลายปี โดยผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีเมตาบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีที่รักษาความสมดุลของร่างกายที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการเสื่อมของเซลล์เส้นประสาท ปลายประสาทเสื่อม สามารถแบ่งได้ดังนี้

  • ประสาทอัตโนมัติเสื่อม ส่งผลกระทบต่อการควบคุมการหดและขยายของหลอดเลือดและการหลั่งเหงื่อ ทำให้ร่างกายหลั่งเหงื่อน้อยลง ผิวแห้ง แตก และทำให้เชื้อโรคอาจเข้าสู่่ผิวหนังผ่านรอยแตก ส่งผลให้เท้าบวม ผิวบอบบาง เกิดแผลได้ง่ายและลุกลามมากขึ้น
  • ประสาทความรู้สึกเสื่อม ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้สึกถึงความร้อน ความเย็น หรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง จึงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเกิดบาดแผล และส่งผลให้แผลเบาหวานลุกลามมากขึ้น
  • ประสาทควบคุมกล้ามเนื้อเสื่อม ทำให้กล้ามเนื้อที่เท้าอยู่ในสภาพไม่สมดุล และอาจทำให้เท้าผิดรูป เพิ่มโอกาสเกิดแผลเรื้อรังจากการกดทับ หรือเกิดแผลได้ง่ายขึ้น

การดูแลแผลเบาหวานด้วยตัวเอง

หากเกิดแผลเบาหวานจากการขีดข่วน มีดบาด หรือแมลงกัดต่อย ควรทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำ เช็ดให้แห้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ จากนั้นจึงปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่สะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว

ควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผลด้วยวิธีข้างต้นเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงการแช่แผลในอ่างน้ำหรือใช้สารฆ่าเชื้อไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) เพราะอาจทำให้แผลหายช้าและเพิ่มโอกาสติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม หากแผลมีอาการบวมแดง มีน้ำเหลือง หรือมีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้นควรรีบพบคุณหมอโดยเร็วเพื่อรับการรักษาเพิ่มเติม

การรักษาแผลเบาหวานโดยคุณหมอ

วิธีการรักษาเพิ่มเติมโดยคุณหมออาจขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผลเบาหวาน ดังนี้

  • รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ สำหรับรักษาแผลที่ติดเชื้อ การให้ยาอาจขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรง และสุขภาพของผู้ป่วย ควรใช้ยาให้ครบตามที่คุณหมอกำหนดเพื่อป้องกันการดื้อยา
  • ทำแผลมีหนอง คุณหมออาจต้องกรีดเพื่อเอาหนองออก หรือตัดเนื้อส่วนที่เน่าตายออก จากนั้นจึงล้างแผลด้วยน้ำเกลือ เปิดแผลด้วยผ้าชุบน้ำเกลือผสมเบตาดีน ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องทำซ้ำ 2-4 ครั้ง/วัน โดยคุณหมออาจสั่งอุปกรณ์และยาสำหรับล้างให้ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้าน
  • การผ่าตัดหลอดเลือด เพื่อจัดการกับหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตัน ทำให้เลือดสามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณแผลได้ดีขึ้น และทำให้แผลสามารถสมานตัวเองได้ โดยคุณหมออาจประเมินระยะของโรคเบาหวานและสุขภาพของผู้ป่วยก่อนทำการผ่าตัด
  • การตัดเท้าส่วนที่เป็นเนื้อตายทิ้ง เป็นวิธีสุดท้ายเมื่อผู้ป่วยไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีที่กล่าวมาข้างต้นได้สำเร็จ คุณหมออาจจำเป็นต้องตัดส่วนที่อยู่ใต้เข่าหรือเหนือเข่าขึ้นอยู่กับแผล เพื่อป้องกันการลุกลามของแผลมากขึ้น
  • การรักษาด้วยออกซิเจนแรงดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) เป็นวิธีการบำบัดด้วยการใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ในตู้แรงดันสูง ซึ่งอาจช่วยทำให้สภาพแผลดีขึ้น หายเร็วขึ้น

การป้องกันแผลเบาหวาน

การป้องกันไม่ให้เกิดแผลเบาหวาน คือการป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อหยุดการลุกลามและการติดเชื้อ นอกจากนี้ การควบคุมระยะของโรคเบาหวานไม่ให้รุนแรงขึ้นก็อาจช่วยป้องกันความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • ตรวจสอบเท้าผู้ป่วยเบาหวานเป็นประจำทุกวัน รวมถึงบาดแผลในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย โดยการตรวจสอบบาดแผล รอยฟกช้ำ รอยแตก แผลพุพอง รอยแดง แผลพุพอง และสัญญาณของความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น หากพบความผิดปกติควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อรักษาทันที
  • เลือกรองเท้าและสวมถุงเท้าที่พอดีกับเท้าผู้ป่วย เพื่อลดการกดทับที่อาจทำให้เกิดบาดแผล
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่า เพราะเสี่ยงทำให้เท้าได้รับบาดเจ็บและเพิ่มโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
  • งดการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เข้าพบคุณหมอตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมระยะของโรคเบาหวานไม่ให้ลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารที่ไขมันต่ำ แคลอรี่ต่ำ และมีใยอาหารสูง อย่าง ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี ออกกำลังกายเป็นประจำ และการควบคุมน้ำหนัก
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ วันละหลายครั้ง เช่น เริ่มตั้งแต่ตื่นนอน ก่อนรับประทานอาหาร หลังรับประทานอาหารทุกมื้อ และก่อนนอน  เพราะการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำจะช่วยให้ผู้ป่วยทราบถึงระดับน้ำตาลในขณะนั้น ทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในอยู่ในความสมดุลไม่ให้มากหรือน้อยจนเกินไป

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

แผลเบาหวาน (Diabetic Foot) และการดูแลเท้า. https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=915. Accessed December 13, 2021

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444. Accessed December 13, 2021

Diabetic Wound Care. https://www.apma.org/diabeticwoundcare. Accessed December 13, 2021

How to Care for Diabetic Ulcers and Sores. https://www.webmd.com/diabetes/diabetes-sores-ulcers-care. Accessed December 13, 2021

Poor immune response impairs diabetic wound healing. https://www.nih.gov/news-events/nih-research-matters/poor-immune-response-impairs-diabetic-wound-healing. Accessed December 13, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/03/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

หลอดเลือดแข็ง ภาวะแทรกซ้อน ที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน

เบาหวานอาการที่ควรสังเกต


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา