DKA (Diabetic Ketoacidosis) หรือ ภาวะเลือดเป็นกรด เป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของโรคเบาหวาน เกิดขึ้นจากร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนแปลงน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงานได้ อาจเกิดจากร่างกายขาดอินซูลิน หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน ทำให้มีน้ำตาลสะสมในเลือดมากเกินไปเป็นเวลานาน หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ DKA มักเกิดกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 มากกว่าชนิดที่ 2 และสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพและรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
[embed-health-tool-heart-rate]
คำจำกัดความ
DKA คืออะไร
DKA คือ ภาวะเลือดเป็นกรดในผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากร่างกายผู้ป่วยผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอ โดยอินซูลินมีหน้าที่ลำเลียงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานให้ร่างกาย เมื่ออินซูลินผลิตได้น้อย พลังงานจากน้ำตาลที่ได้จึงลดลงตามไปด้วย ร่างกายผู้ป่วยจะสร้างพลังงานทดแทนด้วยการย่อยสลายไขมัน ซึ่งทำให้เกิดสารที่เรียกว่า คีโตน (Ketone) ในเลือด หากมีคีโตนสะสมอยู่ในเลือดมากจะส่งผลให้เลือดเป็นกรด
อาการ
อาการของ DKA
หากผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะ DKA มักแสดงอาการภายใน 24 ชั่วโมง ดังนี้
- ปวดศีรษะ
- กระหายน้ำมาก
- ปัสสาวะบ่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้อง
- อ่อนเพลีย
- หายใจติดขัด
- ลมหายใจเปรี้ยว
- ผิวแห้ง ปากแห้ง
- ระดับคีโตนในเลือดสูง
ภาวะแทรกซ้อนของ DKA
ภาวะแทรกซ้อนของการรักษาภาวะ DKA
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- สมองบวม
แต่หากผู้ป่วยเบาหวานเกิดภาวะเลือดเป็นกรดแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจหมดสติ และเสียชีวิตได้
สาเหตุ
สาเหตุของ DKA
สาเหตุหลักของภาวะ DKA มีอยู่ 2 ประการ คือ
- ความเจ็บป่วยของร่างกาย เช่น การติดเชื้อ หรืออวัยวะทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดในปริมาณสูงเกินไป เช่น อะดรีนาลีน (Adrenaline) คอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของอินซูลิน โดยส่วนใหญ่มักส่งผลให้เป็นโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และนำไปสู่ภาวะเลือดเป็นกรด
- อินซูลินไม่เพียงพอซึ่งมักเกิดจากการรักษาโรคเบาหวาน ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ และใช้อินซูลินปั๊มเพื่อส่งอินซูลินเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจทำงานผิดพลาดส่งอินซูลินให้ร่างกายได้ไม่เพียงพอ หรือในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งอาจได้รับอินซูลินไม่ครบโดส ทำให้ร่างกายขาดอินซูลิน จนนำไปสู่การที่ร่างกายต้องย่อยไขมันเป็นพลังงาน ทำให้เกิดสารคีโตนสะสมในเลือด
นอกจากนี้ DKA อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น
- โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- การตั้งครรภ์
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด
- ยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ
ผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณของ DKA
- คลื่นไส้อาเจียน หรือเมื่อร่างกายปฏิเสธอาหาร รับประทานเข้าไปแล้วอาเจียนออกมา
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงประมาณ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยวจากระดับคีโตนที่สูงมากในร่างกาย
- เหนื่อยจัดอ่อนเพลียเกิดอาการช็อคไม่รู้สึกตัว
- อาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น กระหายน้ำมากปวดท้องอ่อนเพลีย
การวินิจฉัยและรักษาโรค
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัย DKA
นอกจากการตรวจร่างกายโดยทั่วไป เช่น ซักประวัติ วัดความดัน วัดไข้ คุณหมอจะตรวจเลือดของผู้ป่วย เพื่อหาข้อมูลสำหรับยืนยันภาวะเลือดเป็นกรด ได้แก่
- ระดับน้ำตาลในเลือด โดยผู้ป่วย DKA จะมีน้ำตาลในเลือดสูง หรือตั้งแต่ 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป
- ระดับคีโตน โดยผู้ป่วย DKA จะมีระดับคีโตนในเลือดสูง หรือตั้งแต่ 0.6 มิลลิโมล/ลิตร ขึ้นไป
- ความเป็นกรดของเลือด โดยผู้ป่วย DKA จะมีค่ากรดในเลือดค่อนข้างสูง หรือมีค่า pH ที่ 7.35 หรือต่ำกว่า ซึ่งสามารถส่งผลกระทบการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้
นอกจากนี้ คุณหมออาจตรวจคนไข้ด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อให้ทราบถึงความผิดปกติ หรือโรคแทรกซ้อน ดังนี้
- ตรวจเกลือแร่ในเลือด (Blood Electrolyte Tests)
- ตรวจปัสสาวะ
- เอ็กซเรย์หน้าอก
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)
การรักษา DKA
เมื่อผู้ป่วยเบาหวาน ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะ DKA คุณหมอจะรักษาดังนี้
- ให้ดื่มน้ำปริมาณมาก เพื่อทดแทนน้ำส่วนที่หายไปจากร่างกายเนื่องจากการปัสสาวะบ่อย และช่วยชดเชยปริมาณน้ำที่ร่างกายสูญเสียไปทางปัสสาวะจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงก่อนหน้านี้
- ให้อิเล็กโทรไลต์ หรือให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด โดยอิเล็กโทรไลต์หมายถึงแร่ธาตุต่าง ๆ ในเลือด เช่น โซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์ ซึ่งจะลดลงเมื่อร่างกายขาดอินซูลิน
- ให้อินซูลินทางเส้นเลือด เนื่องจากการขาดอินซูลิน เป็นต้นเหตุของ DKA
การปรับไลฟ์สไตล์และดูแลตัวเอง
เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ DKA ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลตัวเอง ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ดูแลสุขภาพ ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือรับประทานอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ อาจตรวจประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน เพื่อสังเกตระดับน้ำตาลว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ตรวจระดับคีโตนสม่ำเสมอ ด้วยชุดตรวจคีโตน หากพบว่าอยู่ในระดับปานกลางหรือสูง ควรรีบไปพบคุณหมอ หากพบว่าอยู่ในระดับต่ำ ผู้ป่วยควรเพิ่มอินซูลินเข้าสู่ร่างกาย
- คุยกับคุณหมอเรื่องปริมาณการใช้อินซูลิน ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยแต่ละคนต้องการปริมาณอินซูลินที่แตกต่างกัน เช่น ในกรณีไม่สบาย กรณีน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อจะได้รับมือกับความผิดปกติต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที