โรคเบาหวาน เป็นภาะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลจากการที่ตับอ่อนผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือพบภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญน้ำตาลจากอาหารให้เป็นพลังงานแก่เซลล์ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย หากมีแผลหายช้า น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ปัสสาวะบ่อย และหงุดหงิดง่าย อาจจะเป็นเบาหวานแล้วก็ได้
ประเภทของโรคเบาหวาน
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานอาจแตกต่างกันออกไป โดยเบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้ ดังนี้
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ส่งผลทำลายเซลล์ในตับอ่อนซึ่งมีหน้าที่ผลิตอินซูลิน ทำให้ร่างกายมีอินซูลินไม่เพียงพอ นำไปสู่การสะสมของน้ำตาลในเลือดปริมาณมาก นอกจากนี้ หากครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ก็อาจทำให้บุตรเสี่ยงเป็นเบาหวานได้เช่นกัน
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน หรือที่เรียกว่า ภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายมีความบกพร่องในการควบคุมและใช้น้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่เชื่อมโยงให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินอาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต น้ำหนักเกินมาตรฐาน อายุที่มากขึ้น ความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลไม่ดีสูง ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเผชิญกับภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) ที่สังเกตได้จากระดับน้ำตาลในเลือดสูง แต่ไม่แสดงอาการใด ๆ
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ฮอร์โมนการตั้งครรภ์อาจต่อต้านอินซูลิน ทำให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่กระทบต่อสุขภาพของคุณแม่และทารก เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ คลอดบุตรยาก คลอดก่อนกำหนด
ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาเบาหวาน หรือไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อาจส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจได้รับความเสียหาย รวมถึงเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงหัวใจไม่สะดวก นำไปสู่อาการเจ็บหน้าอก หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ซึ่งหลอดเลือดที่หัวใจและขา เป็นหลอดเลือดขนาดใหญ่ เมื่อเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงขา และเท้าไม่สะดวก ก็จะทำให้เกิดอาการชา และไม่รู้สึก เมื่อมีแผล ทำให้มีแผลพุพอง และติดเชื้อได้ง่าย
- โรคไต ไตประกอบไปด้วยหน่วยกรอง ที่เรียกว่า เนฟรอน (Nephron) ซึ่งเป็นกลุ่มเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่ช่วยกรองของเสียจากเลือด ให้เป็นปัสสาวะ และหากระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้หลอดเลือดฝอยเล็ก ๆ ในไต หดเล็กลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตได้น้อยลง และนำไปสู่ภาวะโรคไตเรื้อรังได้
- จอประสาทตาเสื่อม ระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มขึ้น อาจสร้างความเสียหายให้แก่หลอดเลือดบริเวณเรตินาของดวงตา หรือเรียกอีกอย่างว่า ภาวะเบาหวานขึ้นตา ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อภาวะจอประสาทตาเสื่อม และเลือดออกในวุ้นตา ส่งผลให้ตาบอดได้ และอาจจะพบภาวะต้อกระจก ต้อหินเพิ่มขึ้นด้วย
- ปัญหาการได้ยิน โรคเบาหวานอาจทำลายเส้นเลือด และเส้นประสาทบริเวณต่าง ๆ รวมถึงหูชั้นในที่เชื่อมโยงกับสมอง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน
- โรคอัลไซเมอร์ หากร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำให้หลอดเลือดในสมองอักเสบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความคิด ความทรงจำ อีกทั้งยังทำปฏิกิริยากับโปรตีนที่ชื่อว่า เบต้า–อะไมลอยด์ (Beta-Amyloid)ก่อให้เกิดการจับตัวเป็นก้อนบริเวณเซลล์ประสาทขัดขวางการส่งสัญญาณทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองเสื่อมลง
- ภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงอาจส่งผลให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ วิตกกังวล
- สุขภาพผิว โรคเบาหวานอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ที่นำไปสู่การติดเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียบนผิวหนัง
รักษาเบาหวาน เพื่อสุขภาพที่ดี
การรักษาเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้
- อินซูลิน เป็นยาบำบัดในรูปแบบฉีด ซึ่งอาจช่วยเพิ่มปริมาณของอินซูลิน รวมถึงควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ 5 ประเภท ได้แก่
- อินซูลินออกฤทธิ์เร็ว โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในไม่กี่นาที หลังจากฉีดเข้าร่างกาย และออกฤทธิ์ยาวนาน 2-4 ชั่วโมง
- อินซูลินออกฤทธิ์ปกติ จะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที และออกฤทธิ์ยาวนาน 3-6 ชั่วโมง
- อินซูลินออกฤทธิ์ระดับปานกลาง เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ยาวนานกว่า 18 ชั่วโมง
- อินซูลินออกฤทธิ์เป็นเวลานาน เริ่มออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 24 ชั่วโมง
- อินซูลินออกฤทธิ์นานเป็นพิเศษ ออกฤทธิ์ภายใน 1-2 ชั่วโมง และออกฤทธิ์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 42 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีอินซูลินชนิดสูดพ่นที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้สูดพ่นก่อนรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้งาน
- ยาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของตับอ่อนในการผลิตอินซูลิน เช่น คลอร์โพรพาไมด์ (Chlorpropamide) ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) นาทิไกลไนด์ (Nateglinide) ไกลพิไซด์ (Glipizide) รีพาไกลไนด์ (Repaglinide) ไกลบูไรด์ (Glyburide)
- ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น อะคาร์โบส (Acarbose) ไมกลิทอล (Miglitol) เมตฟอร์มิน (Metformin)
- ยาที่อาจช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลิน เช่น ไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) โรสิกลิทาโซน (Rosiglitazone)
- ยาช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและเพิ่มการผลิตอินซูลิน เช่น ดูลากลูไทด์ (Dulaglutide) เอ็กซีนาไทด์ (Exenatide) ไลนากลิปติน (Linagliptin) ลิรากลูไทด์ (liraglutide) ซิตากลิปติน (Sitagliptin)
- การปลูกถ่ายตับอ่อน เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แต่อาจเกิดผลข้างเคียง คือ ร่างกายอาจปฏิเสธอวัยวะ ซึ่งจำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
- ผ่าตัดลดความอ้วน ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะโรคอ้วนแทรกซ้อน อาจจำเป็นต้องผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร หรือลดขนาดของกระเพาะอาหาร
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไร้ไขมัน ธัญพืช และหลีกเลี่ยงขนมหวาน เครื่องดื่มที่ประกอบด้วยน้ำตาลปริมาณมาก เพื่อป้องกันการสะสมน้ำตาลในกระแสเลือด
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ควรวางแผนการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น การเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด
[embed-health-tool-bmi]