สถิติเบาหวานในประชากรทั่วโลกและในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเฝ้าระวัง เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เพิ่มความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต สถิติเบาหวานในประเทศไทยล่าสุด พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากเบาหวานโดยเฉลี่ย 200 คน/วัน และผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นโรคเบาหวานประมาณ 5 ล้านคนการจัดการโรคเบาหวานและการดูแลตัวเองอาจช่วยป้องกัน และลดจำนวนผู้ป่วยเบาหวานได้
สถิติเบาหวานในประเทศไทย
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อที่คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทั้งประชากรทั่วโลกและในประเทศไทย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตลดลงด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต แผลที่เท้า โรคปลายประสาทตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม โดยคนไทยเสียชีวิตจากโรคเบาหวานมากถึง 200 คน/วัน สหพันธ์เบาหวานนานาชาติคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2583 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 5.3 ล้านคน และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย พบว่า กลุ่มอายุ 60-69 ปี มีความชุกเป็นโรคเบาหวานสูงที่สุด ในผู้ชายคิดเป็นร้อยละ 15.9 และผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 21.9
จากการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 5 ปี พ.ศ. 2557 พบว่า ความชุกของโรคเบาหวานในประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวาน ร้อยละ 9.8 และผู้ชายร้อยละ 7.8 นอกจากนี้ โรคเบาหวานยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับ 2 ของผู้หญิงในประเทศไทย และผู้ชายติดอันดับ 7 ของการเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานในประเทศไทย
จากข้อมูลปี พ.ศ.2560 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานในประเทศไทยเกี่ยวข้องกับ การมีน้ำหนักเกิน โรคอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย ดังนี้
- การมีน้ำหนักเกินทั้งหมดคิดเป็น 31.6% คิดแยกเป็นผู้ชาย 27.7% และผู้หญิง 35.4%
- โรคอ้วนทั้งหมดคิดเป็น 9.2% คิดแยกเป็นผู้ชาย 6.1% และผู้หญิง 12.1%
- การไม่ออกกำลังกายทั้งหมดคิดเป็น 14.6% คิดแยกเป็นผู้ชาย 12.8% และผู้หญิง 16.4%
ปัจจัยการใช้ชีวิตของคนไทยแบบเนือยนิ่งและไม่ออกกำลังกายมีความสัมพันธ์กับความชุกของน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดโรคเบาหวาน โดยโรคอ้วนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่า 7 เท่า ในขณะที่การมีน้ำหนักเกินเพิ่มความเสี่ยง 3 เท่า
นอกจากนี้ อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป และรองลงมาเป็นวัยผู้ใหญ่อายุ 30-69 ปี ซึ่งประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประชากรผู้สูงอายุอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 14.4 ล้านคน ในปี พ.ศ.2568 และจะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 คนเป็นโรคเบาหวาน
การจัดการโรคเบาหวานในประเทศไทย
เพื่อควบคุมโรคเบาหวานและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน การประเมินความเสี่ยงเพื่อวินิจฉัยและตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน เป็นวิธีที่จะช่วยให้รู้ทันโรคและสามารถเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เริ่มต้น
แนวทางการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในผู้ใหญ่
การตรวจคัดกรองโรค และการประเมินความเสี่ยงตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลกมีเกณฑ์ดังนี้
- ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป
- ผู้มีภาวะอ้วน (BMI 25 กิโลกรัม/เมตร2 และ/หรือ มีรอบเอวเกินมาตรฐาน) และครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน
- เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือรับประทานยาคุมความดันโลหิต
- ระดับไขมันในเลือดผิดปกติ โดยมีระดับไตรกลีเซอไรด์ 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร.และ/หรือ เอช ดี แอล คอเลสเตอรอล (HDL) < 35 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือได้รับยาลดไขมันในเลือด
- มีประวัติโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดเกิน 4 กิโลกรัม
- เคยได้รับการตรวจพบว่าเป็น Impaired glucose tolerance (IGT) ความทนต่อน้ำตาลบกพร่อง หรือ Impaired fasting glucose (IFG) ระดับน้ำตาลขณะอดอาหารผิดปกติ
- มีกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่
- มีโรคหัวใจและหลอดเลือด
วิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน
คุณหมออาจแนะนำให้ใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง ได้แก่
- การตรวจวัดพลาสมากลูโคสขณะอดอาหาร โดยวิธีตรวจเลือดจากหลอดเลือดดำ
- ตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยวิธีเจาะปลายนิ้ว หากระดับ FPG หรือ FCBG 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้ตรวจยืนยันด้วย FPG อีกครั้ง ในวันนั้นหรือสัปดาห์ถัดไป หากยังคงค่าเดิมวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
- การตรวจความทนต่อกลูโคส สามารถวินิจฉัยได้ไวกว่า FPG หากระดับพลาสมากลูโคส 2 ชั่วโมงหลังดื่มน้ำตาล 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ให้ตรวจยืนยันอีกครั้งในวันนั้นหรือสัปดาห์ถัดไป หากยังคงค่าเดิมวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคเบาหวาน
การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคเบาหวาน
คำแนะนำจาก กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันโรคเบาหวานและดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพ ดังนี้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารสหวาน มัน และเค็ม
- งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ขยับร่างกายและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอยู่เสมอ
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และรักษารอบเอวไม่ควรเกินมาตรฐาน ในผู้ชายไม่ควรมากกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงไม่ควรมากกว่า 80 เซนติเมตร
- ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- หากมีอาการของโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ หิวบ่อย รับประทานอาหารมากขึ้น น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ชาปลายมือปลายเท้า หรือเป็นแผลง่ายและหายยากขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เริ่มต้น
- หากสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ควรใส่ใจเรื่องการควบคุมอาหาร การรับประทานยา เข้ารับการตรวจตามนัด และสังเกตอาการป่วยที่อาจเกิดขึ้นอย่างผิดปกติ
[embed-health-tool-bmi]