backup og meta

อาการน้ำตาลสูง ในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นอย่างไร รักษาและดูแลตัวเองอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/07/2022

    อาการน้ำตาลสูง ในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นอย่างไร รักษาและดูแลตัวเองอย่างไร

    อาการน้ำตาลสูง ในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมากขึ้น อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดศีรษะขาดสมาธิ และหากปล่อยไว้เรื้องรังอาจมีอาการเเทรกซ้อนรุนแรงถึงขั้นเส้นประสาท ดวงตาและไตเสื่อมรวมไปถึงอาจอันตรายถึงขั้นโคม่าได้

    อาการน้ำตาลสูง ในผู้ป่วยเบาหวาน คืออะไร

    ผู้ที่เป็นเบาหวาน จะมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขณะอดอาหารมาเป็นเวลานานอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มีสาเหตุมาจากร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่ในการเผาผลาญน้ำตาลไม่เพียงพอ หรือร่างกายไม่สามารถใช้ฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างเหมาะสม หากผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เส้นประสาท หลอดเลือด เสื่อมลงและอวัยวะภายในร่างกายทำงานผิดปกติไป เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวานขึ้นตา บาดแผลที่เกิดขึ้นหายช้า  เเละ ไตวายเรื้อรังได้

    อาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นอย่างไร

    อาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวานอาจสังเกตได้ ดังนี้

    • กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะตอนกลางคืน
    • ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า อ่อนแรง
    • มองเห็นภาพไม่ชัดเจน
    • น้ำหนักลดลงผิดปกติ

    อย่างไรก็ตาม หากมีระดับน้ำตาลสูงกว่าปกติไม่มาก มักยังไม่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว เเต่หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจนมีน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดอาการ ดังนี้

    • อ่อนเพลีย สับสน มึนงง
    • เป็นแผลง่ายและแผลหายช้า
    • การติดเชื้อระบบต่าง ๆ ง่ายขึ้น เช่น ระบบทางเดินปัสสาวะ ผิวหนัง รวมทั้งอาจเกิดเชื้อราตามเล็บมือ เล็บเท้า เเละมีอาการตกขาวได้
    • ตาพร่ามัว
    • เส้นประสาทเสื่อมทำให้การรับความรู้สึกเปลี่ยนไปเป็นได้ทั้งชาเเละรู้สึกเเสบร้อน รวมถึงทำให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
    • ระบบย่อยอาหารแปรปรวน เช่น ท้องเสีย ท้องอืดอาหารไม่ย่อย ท้องผูกเรื้อรัง
    • ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะลดลง เปลือกตาบวม ขาบวม จากไตเสื่อม
    • ภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งอาจมีอาการ หายใจหอบ ลมหายใจมีกลิ่นหมักเปรี้ยว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน
    • อาจมีอาการโคม่า หมดสติ หรือ ชัก เนืองจากเกิดภาวะเลือดข้นจากน้ำตาลสูง

    การรักษาอาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวาน

    การรักษามีเป้าหมายเพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ตาม ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนอาจได้รับคำแนะนำในการรักษาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ เเต่หากผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะฉุกเฉินน้ำตาลในเลือดสูงรุนแรงได้เเก่ ภาวะเลือดเป็นกรด เเละ ภาวะเลือดข้นจากน้ำตาลสูงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเเละอาจได้รับการรักษาหลักกๆดังนี้

    • การให้น้ำเกลือ (Fluid Replacement) คุณหมอจะให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดดำเพื่อเเก้ไขภาวะขาดน้ำจนกว่าร่างกายจะได้รับสารน้ำเพียงพอ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปทางปัสสาวะที่เป็นผลมาจากไตพยามขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้ง รวมถึงยังอาจช่วยเจือจางระดับน้ำตาลในเลือดด้วย
    • การทดเเทนเกลือเเร่ (Electrolyte Replacement) เมื่อเกิดภาวะดังกล่าวจะทำให้เกลือเเร่ในร่างกายหลายชนิดเเปรปรวน หลักๆคือ โปเเทสเซียม ซึ่งเป็นเกลือเเร่ในเลือดที่สำคัญต่อร่างกาย โดยคุณหมออาจจะให้เกลือเเร่ทางเส้นเลือดเพื่อช่วยให้หัวใจ กล้ามเนื้อ และเซลล์ประสาททำงานตามปกติ
    • อินซูลิน โดยคุณหมอจะให้อินซูลินทางเส้นเลือดเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ลดลงมาอย่างเร็วที่สุด

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการน้ำตาลสูงในผู้ป่วยเบาหวาน

    สำหรับวิธีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการน้ำตาลสูง ในผู้ป่วยเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้

    • วางแผนการและจัดเตรียมโภชนาการสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากการจะควบคุมเบาหวานให้ดีจำเป็นต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเกณฑ์เป้าหมาย จึงควรวางแผนมื้ออาหารให้เหมาะสม และเลือกประเภทโภชนาการอาหารให้หลากหลายเพื่อที่จะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน โดยควรประกอบไปด้วยโปรตีนที่ดี เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมันคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนยกตัวอย่างเช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง เมล็ดพืช เพราะมีเส้นใยสูงและน้ำตาลน้อย ผัก/ผลไม้ที่อุดมไปด้วยเส้นใย รวมทั้งวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์เพื่อช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยเผาผลาญพลังงานจากน้ำตาลส่วนเกิน โดยเเนะนำให้ออกกำลังกายที่มีความหนักปานกลาง เช่น เดินเร็ว เต้นแอโรบิก อย่างน้อยวันละ 30 นาที ประมาณ 5 วัน/สัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ในผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานเเล้วควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับคำเเนะนำในการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายที่อาจเกิดจากการออกกำลังกายได้
    • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน สามารถตรวจและบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดได้เองโดยการตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว สามารถตรวจได้หลายช่วงเวลา เช่น ก่อน เเละ หลังอาหารในเเต่ละมื้อ เพื่อตรวจสอบให้ค่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์
    • ใช้ยาฉีดอินซูลินและยาลดระดับน้ำตาลอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการรักษาด้วยอินซูลิน และ/หรือ ยาเม็ดลดระดับน้ำตาล เ ควรทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 30/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา