backup og meta

อาการของคนเป็นเบาหวาน สังเกตได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

    อาการของคนเป็นเบาหวาน สังเกตได้อย่างไร

    โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้าสูงกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินเพียงพอเพื่อช่วยให้น้ำตาลเปลี่ยนเป็นพลังงานเพื่อนำไปใช้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายซึ่ง อาการของคนเป็นเบาหวาน อาจสังเกตได้จากระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ เท้าบวม ปัสสาวะบ่อย หากมีอาการเหล่านี้ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากคุณหมอ และรับการรักษาทันที เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

    เบาหวานเกิดจากอะไร

    โรคเบาหวานมีความเชื่อมโยงกับการทำงานของอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากตับอ่อน มีบทบาทสำคัญในการนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ในร่างกายเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ให้ร่างกายนำไปใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน หากเกิดความผิดปกติในการทำงานของอินซูลิน ก็อาจทำให้มีน้ำตาลสะสมในเลือดสูงและนำไปสู่โรคเบาหวานได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิด ดังนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus หรือ T1DM) อาจเกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันที่ทำลายเซลล์ในตับอ่อนซึ่งมีหน้าที่ผลิตอินซูลิน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ย ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทั้งนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus หรือ T2DM) อาจเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอ หรือภาวะที่ร่างกายมีอินซูลินแต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า ภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง สาเหตุอาจมาจากพันธุกรรมหรือพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร โรคอ้วน การไม่ออกกำลังกาย
  • โรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus หรือ GDM) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์ที่ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดยากขึ้น ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง คลอดบุตรยาก ภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด 
  • โรคเบาหวานที่มีสําเหตุจำเพาะ (Specific types of diabetes due to other causes) เป็นโรคเบาหวานที่มีสาเหตุชัดเจน ได้แก่ โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติทํางพันธุกรรมเช่น MODY (Maturity-Onset Diabetes of the Young) โรคเบาหวานที่เกิดจากโรคของตับอ่อน โรคเบาหวานที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ โรคเบาหวานที่เกิดจากยา โรคเบาหวานที่เกิดจากการติดเชื้อ โรคเบาหวานที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน หรือโรคเบาหวานที่พบร่วมกับกลุ่มอาการต่าง ๆ
  • อาการของคนเป็นเบาหวาน

    สำหรับโรคเบาหวานประชนิดที่ 1 อาจมีอาการเบาหวานเกิดขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่สำหรับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจเริ่มแสดงอาการอย่างช้า ๆ และอาจส่งผลรุนแรงขึ้นปล่อยทิ้งไว้ระยะยาว หากไม่ได้รับการรักษา นอกจากนี้อาการของคนเป็นเบาหวานขึ้นอยู่กับระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงเท่าไหร่ โดยส่วนใหญ่มักแสดงอาการต่าง ๆ ดังนี้

    • รู้สึกหิว และกระหายน้ำมาก
    • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด
    • คลื่นไส้ อาเจียน 
    • ปากแห้ง ผิวแห้ง คันผิวหนัง สีผิวคล้ำขึ้นโดยเฉพาะบริเวณรักแร้ ต้นคอ ขาหนีบ
    • เหนื่อยล้าง่าย
    • มองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว
    • เท้าชา มือชา
    • ปัสสาวะบ่อย
    • น้ำหนักลด หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • แผลตามร่างกายอาจหายช้ากว่าปกติ
    • การติดเชื้อ เช่น ผิวหนังติดเชื้อ ช่องคลอดติดเชื้อ
    • ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

    หากรู้สึกว่ามีอาการปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยเฉพาะเวลากลางคืน คันบริเวณอวัยวะเพศและช่องคลอด มองเห็นภาพซ้อน รู้สึกกระหายน้ำมาก ควรเข้าพบคุณหมอในทันที เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้อย่างทันท่วงที

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็นเบาหวาน

    วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นเบาหวาน อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานยาตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
    • ตรวจระดับน้ำตาลด้วยเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อคอยจดบันทึกข้อมูลค่าน้ำตาลว่าอยู่ในระดับใด ยาที่ใช้และแผนการรักษาได้ผลหรือไม่ หากพบว่ายังคงมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหารสูงเกินกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (mg/dL) ควรแจ้งให้คุณหมอทราบเพื่อรับการรักษาเบาหวาน และอาจเปลี่ยนยาชนิดใหม่แทน
    • เลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เน้นผัก ผลไม้ โปรตีนไร้ไขมัน ธัญพืชเต็มเมล็ด และหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงอย่างรวดเร็ว เช่น ขนมปังขาว พาสต้า ขนมหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
    • ออกกำลังกายในความเข้มข้นระดับปานกลาง อย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น แอโรบิก เดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 24/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา