backup og meta

อาการเบาหวานแฝง ปัจจัยเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/02/2023

    อาการเบาหวานแฝง ปัจจัยเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน

    อาการเบาหวานแฝง หรือภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) มีสาเหตุสำคัญ คือ ภาวะดื้อต่ออินซูลินที่ทำให้มีระดับน้ำตาลมีเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งอาจเสี่ยงพัฒนาเป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต ดังนั้น หากตรวจพบว่ามีเบาหวานแฝง ควรรีบปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างและควรดูแลสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

    อาการเบาหวานแฝง เกิดขึ้นได้อย่างไร

    เบาหวานแฝง หรือภาวะก่อนเบาหวาน มักมีสาเหตุมาจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน ที่ทำให้ร่างกายจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติ แต่ยังไม่สูงจนเข้าข่ายว่าเป็นโรคเบาหวาน (ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบงดอาหาร 8 ชั่วโมง แล้วค่าอยู่ระหว่าง 100 – 125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ซึ่งหากไม่ปรับพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม โดยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ ก็อาจพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการเบาหวานแฝง อาจมีดังนี้

  • พันธุกรรม หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น บิดา มารดา พี่น้องท้องเดียวกัน ก็จะยิ่งเสี่ยงมีภาวะเบาหวานแฝงและโรคเบาหวานได้มากขึ้น 
  • อายุ อายุที่เพิ่มขึ้นนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของภาวะเบาหวานแฝง จึงแนะนำให้ตรวจสุขภาพและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อคัดกรองหาเบาหวานแฝงในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป 
  • ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมักมีภาวะดื้ออินซูลินร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของเบาหวานแฝง นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง คือมีไขมันสะสมในช่องท้องมากผิดปกติ นอกจากจะเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานมากกว่าผู้ที่รูปร่างอ้วนทั่วไปแล้ว ยังเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมากกว่าอีกด้วย 
  • การรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเป็นประจำ อาจทำให้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะเบาหวานแฝงเพิ่มสูงขึ้น
  • ขาดการออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกายในกิจกรรมน้อย มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะเผาผลาญน้ำตาลและไขมันได้ลดลง จึงอาจเสี่ยงเกิดเบาหวานแฝงได้ง่ายขึ้น
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ที่เคยมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะเสี่ยงเกิดภาวะเบาหวานแฝงและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากกว่าผู้หญิงที่มีอายุเท่ากัน
  • โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome หรือ PCOS) ผู้ที่มีภาวะนี้ อาจมีประจำเดือนมาไม่ปกติ ขนขึ้นเยอะ หน้ามัน สิวขึ้น รูปร่างอ้วน และเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานมากขึ้น
  • บุหรี่ การสูบบุหรี่และการสูดดมควันบุหรี่มือสอง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ภาวะเบาหวานแฝง รวมถึงเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง และโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย
  • อาการเบาหวานแฝง เป็นอย่างไร

    จริง ๆ แล้ว เบาหวานแฝง หรือภาวะก่อนเบาหวาน มักจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ให้สังเกตได้ เนื่องจากร่างกายจะแสดงอาการผิดปกติก็ต่อเมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงค่อนข้างมากและเป็นมานานระยะหนึ่แล้ว แต่หากผู้ที่มีเบาหวานแฝงไม่ดูแลสุขภาพให้ดี จนมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนพัฒนากลายเป็นโรคเบาหวานอาจพบอาการแสดงได้ ดังต่อไปนี้

    • มีผื่นหนาสีคล้ำที่บริเวณหลังคอคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ซึ่งเป็นผื่นที่แสดงถึงภาวะดื้ออินซูลิน
    • กระหายน้ำบ่อย 
    • ถ่ายปัสสาวะบ่อย
    • หิวบ่อยขึ้น ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
    • รู้สึกเหนื่อยล้า  อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
    • ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
    • น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

    ภาวะแทรกซ้อนของอาการเบาหวานแฝง

    เบาหวานแฝง หรือภาวะก่อนเบาหวาน อาจทำให้อวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายผิดปกติในระยะยาวได้ รวมถึงหากไม่ได้รับการควบคุมให้ดี ก็อาจพัฒนาไปสู่โรคเบาหวาน รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนี้

    • โรคความดันโลหิตสูง
    • ภาวะคอเลสเตอรอลสูง
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด
    • โรคหลอดเลือดสมอง
    • โรคไต
    • โรคเส้นประสาทเสื่อม
    • โรคไขมันพอกตับ
    • ภาวะเบาหวานขึ้นตา
    • แผลที่เท้า เท้าเบาหวาน
    • การติดเชื้อ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 09/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา