อาการเบาหวาน ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าเป็นโรคเบาหวาน มักเป็นผลจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ก่อนจะไปพบคุณหมอสามารถตรวจอาการเบื้องต้นว่าเข้าข่ายป่วยเป็นเบาหวานหรือไม่ และรีบเข้าปรึกษาคุณหมอ เพื่อการตรวจรักษาอย่างถูกต้องร่วมกับการดูแลตนเอง
อาการเบาหวาน
โรคเบาหวาน แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus) เกิดจากเซลล์ตับอ่อนถูกภูมิคุ้มกันทำลาย ทำให้ขาดอินซูลิน มักพบตั้งแต่เด็กหรือวัยรุ่น แต่อาจพบได้ในผู้ใหญ่บางรายได้เช่นกัน
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน เป็นเบาหวานชนิดที่พบบ่อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด มักพบในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนร่วมด้วย
โดยปกติแล้วผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีอาการแตกต่างกัน แต่มีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนโรคเบาหวานทั้ง 2 ชนิดที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่
- เหนื่อยง่าย
- หิวบ่อย
- ถ่ายปัสสาวะบ่อย
- กระหายน้ำมากกว่าปกติ
- ปากแห้งและคันตามผิวหนัง
- ตาพร่าหรือมองเห็นภาพไม่ชัด
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 อาการป่วยมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ และมักวินิจฉัยพบเมื่ออยู่ในระยะอันตรายแล้ว
ส่วนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในช่วงแรกอาจยังไม่แสดงอาการชัดเจนมากนัก หากผู้ป่วยไม่ทันสังเกตก็มักจะไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทราบว่าป่วยเป็นโรคเบาหวานเมื่อร่างกายเกิดอาการและส่งผลกระทบกับสุขภาพโดยรวม ดังนั้น หากเริ่มสังเกตสัญญาณเตือนบางอย่าง ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว เมื่อรักษาร่วมกับดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยให้ป้องกันภาวะร้ายแรงได้
อาการเบาหวาน ที่อาจเข้าข่ายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
อาการโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่สามารถสังเกตเองได้ มีดังนี้
- ถ่ายปัสสาวะบ่อย
- มองเห็นภาพซ้อน
- มีอาการชา หรือรู้สึกเสียวแปล๊บบริเวณมือและเท้า
- แผลมักหายช้ากว่าปกติ
- รู้สึกหิวบ่อย
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
อาการเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้หญิง
ผู้หญิงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานมากกว่าผู้ชาย นอกจากอาการข้างต้นที่คล้ายกันทั้งผู้หญิงและผู้ชายแล้ว ผู้หญิงที่เป็นเบาหวานก็อาจมีอาการต่อไปนี้
- ติดเชื้อยีสต์ในช่องคลอด ติดเชื้อราในช่องคลอด หรือติดเชื้อในช่องปาก
- คันบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะผิวหนังรอบช่องคลอด
- มีตกขาวเยอะกว่าปกติ
- ตกขาวมีสีต่างจากปกติ เช่น สีเขียว สีเหลือง
- กระเพาะปัสสาววะอักเสบ หรือติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะมีสีขุ่น และปัสสาวะไม่ค่อยออก
อาการเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ชาย
นอกจากอาการข้างต้นที่คล้ายกันทั้งผู้หญิงและผู้ชายแล้ว ผู้ชายที่เป็นเบาหวานก็อาจมีอาการต่อไปนี้
- พบปัญหาเกี่ยวกับระบบฮอร์โมนในเพศชาย มีปัญหาสมรรถภาพทางเพศ เช่น อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ความต้องการทางเพศลดลง
- พบปัญหาเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่น ถ่ายปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะไม่ได้
- หงุดหงิดง่าย อารมณ์ แปรปรวน
- ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน
- อ่อนเพลียง่าย
วิธีลดความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตให้สมดุลยิ่งขึ้นดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
[embed-health-tool-bmi]