backup og meta

มือชา จากโรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล · โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 04/08/2023

    มือชา จากโรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน

    มือชา เป็นอาการหนึ่งที่เกิดจากโรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง จนส่งผลให้เส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ ที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทเสียหาย เส้นประสาทจึงไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 โดยทั่วไปอาจส่งผลต่อเส้นประสาทที่มือและเท้า ทำให้มือชา เท้าชา ปวดมือ ปวดเท้า ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นเพียงอาการเบื้องต้น แต่หากเป็นโรคเส้นประสาทจากเบาหวานเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวด และไม่รู้ตัวหากเป็นแผล จึงอาจตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดแผลเรื้อรัง และติดเชื้อได้ง่าย แม้โรคเส้นประสาทจะเป็นโรคที่ไม่มีวิธีรักษา แต่หากผู้ป่วยเบาหวานตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็อาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้น ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

    กลุ่มอาการของโรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน

    ผู้ที่เป็นโรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน มักไม่ทราบว่าเส้นประสาทเสียหายจนกว่าจะได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ทั้งยังขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนของเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ โดยอาการและประเภทของโรคเส้นประสาทที่เกิดจากเบาหวาน อาจแบ่งได้ดังนี้

    โรคเส้นประสาทจากเบาหวานเฉพาะที่เสียหาย (Diabetic Mononeuropathy)

    โรคเส้นประสาทชนิดนี้อาจมีผลต่อเส้นประสาทเส้นเดียว หรือหลายเส้นพร้อม ๆ กันก็ได้ โดยจะเกิดอาการในส่วนที่ได้รับผลกระทบ เช่น อาจส่งผลต่อเส้นประสาทบริเวณหน้าอก ทำให้เกิดอาการชาและเจ็บที่ผนังหน้าอก อาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่

    • เจ็บหน้าอก ท้อง หรือสีข้าง
    • ปวดที่ต้นขา
    • ปวดหลังส่วนล่างหรือกระดูกเชิงกรานอย่างรุนแรง
    • มีปัญหาการได้ยิน
    • อัมพาตที่ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า
    • ดวงตาโฟกัสภาพให้ชัดเจนไม่ได้
    • ปวดกระบอกตา
    • มองเห็นภาพซ้อน

    โรคเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม (Diabetes Peripheral Neuropathy หรือ DPN)

    โรคเส้นประสาทชนิดนี้อาจส่งผลต่อประสาทสัมผัสและเส้นประสาทส่วนปลายจำนวนมากที่แยกตัวออกมาจากไขสันหลังไปสู่แขน มือ ขา และเท้า ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เหล่านี้

    • อาการชาหรือพาเรสทีเซีย (Paresthesia) โดยเฉพาะบริเวณแขนและขา และมีอาการเสียว คัน ปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย
    • กล้ามเนื้อบริเวณมือและเท้าอ่อนแรง
    • ปวดบริเวณปลายมือปลายเท้าเฉียบพลัน หรือเป็นตะคริว
    • ไวต่อการสัมผัส ความเจ็บปวด หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
    • มือชา ขาชา เท้าชา 
    • ปวดมือ ปวดขา ปวดเท้า
    • เสียการทรงตัว หรือไม่สามารถเดินบนพื้นที่ไม่เรียบได้

    หากอาการของโรคเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมไม่รุนแรง อาจสังเกตไม่เห็น จนเวลาผ่านไปหลายปี แต่ความเสียหายของเส้นประสาทจะแย่ลงเรื่อย ๆ จนทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลให้เส้นประสาทในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตา ทางเดินอาหาร เสียหาย ทั้งยังอาจทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ทำให้เสี่ยงบาดเจ็บและเกิดแผล และหากแผลเกิดการติดเชื้อเรื้อรังอาจต้องสูญเสียแขน หรือขาในที่สุด

    โรคเส้นประสาทอัตโนมัติเสื่อมสภาพจากเบาหวาน (Diabetic Autonomic Neuropathy)

    โรคเส้นประสาทอัตโนมัติจากเบาหวานเสียหาย เป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจนําไปสู่การเสียชีวิตในผู้ป่วยโรคเบาหวานบางราย โดยโรคเส้นประสาทชนิดนี้อาจส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทอัตโนมัติที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบการย่อยอาหาร ระบบหัวใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ ต่อมเหงื่อ และอวัยวะเพศ โดยอาการที่เกิดขึ้น ได้แก่

    • เหงื่อออกผิดปกติ
    • มีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร 
    • ท้องผูก ท้องร่วง
    • คลื่นไส้และอาเจียนอย่างต่อเนื่อง
    • ความดันโลหิตต่ำ
    • น้ำตาลในเลือดต่ำ
    • มีภาวะการรับรู้ความเจ็บปวดบกพร่อง
    • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ

    โรคเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและความรู้สึกส่วนต้นถูกทำลาย (Proximal Neuropathy)

    โรคเส้นประสาทจากเบาหวานชนิดนี้อาจพบได้ยาก มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน อาการที่มักเกิดขึ้น คือ เริ่มปวดบริเวณต้นขาข้างใดข้างหนึ่ง จนอาจส่งผลกระทบไปยังสะโพกและหลังส่วนล่าง เมื่ออาการเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายเดือน อาจทำให้อาการปวดลามไปยังขาส่วนล่างทั้ง 2 ข้าง และอาจต้องเผชิญกับอาการกำเริบ จนถึงขั้นทุพพลภาพถาวร

    โรคเส้นประสาทจากเบาหวานอาจมีอาการคล้ายกับอาการอื่น ๆ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ หัวใจวาย จึงควรปรึกษาคุณหมอถึงอาการที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

    มือชา เกิดจากอะไร

    แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของอาการมือชาจากโรคเส้นประสาทจากเบาหวาน แต่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงจนไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจทำให้เส้นประสาทถูกทำลายและขัดขวางความสามารถในการส่งสัญญาณ ทั้งยังทำให้เส้นเลือดฝอยที่ทำหน้าที่ในการส่งออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเส้นประสาทอ่อนแอ ซึ่งนำไปสู่โรคเส้นประสาทอักเสบจากเบาหวาน

    นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เส้นประสาทเกิดความเสียหาย ได้แก่

    • มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ขึ้นไป
    • มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน
    • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี
    • เป็นโรคไต โรคเบาหวาน ซึ่งอาจทำให้ไตเสียหาย และส่งสารพิษเข้าสู่กระแสเลือด จนอาจนำไปสู่ความเสียหายของเส้นประสาท
    • สูบบุหรี่ จนอาจทำให้หลอดเลือดแดงตีบ หลอดเลือดแข็งตัว ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปยังขาและเท้าลดลง ทั้งยังทำให้แผลที่เกิดขึ้นหายยาก และทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย

    วิธีรักษาอาการมือชาสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน 

    แม้ว่าอาการมือชาจากโรคเส้นประสาทจากเบาหวานอาจไม่มีทางรักษาให้หายได้ แต่การรักษาระดับน้ำตาลให้คงที่ ก็ยังมีประโยชนดังต่อไปนี้

    ชะลอการลุกลามของโรค

    การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อาจช่วยป้องกันและชะลอความเสียหายของเส้นประสาทได้ ทั้งยังอาจช่วยให้อาการปัจจุบันดีขึ้น ทั้งนี้เกณฑ์ของระดับน้ำตาลในเลือดอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล โดยคุณหมออาจพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ ระยะเวลาของการเป็นโรคเบาหวาน รวมถึงสุขภาพโดยรวม

    สำหรับระดับน้ำตาลในเลือดในที่เหมาะสมอาจแบ่งได้ดังนี้

    • ผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วไป ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร ควรอยู่ที่ 80-130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 59 ปีและไม่มีโรคประจำตัว ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร ควรอยู่ที่ 80-120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคไต โรคหัวใจ ระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหาร ควรอยู่ที่ 140-170 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    หากตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร นอกจากนี้ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ก็อาจช่วยชะลอหรือป้องกันไม่ให้โรคเส้นประสาทจากเบาหวานมีอาการแย่ลงได้

    บรรเทาอาการปวด

    ยาที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวดเส้นประสาทจากเบาหวานที่คุณหมอสั่งจ่ายให้ อาจได้แก่

    • ยาต้านเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics Antidepressants) เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)  Desipramine (เดซิพรามีน) แต่อาจมีผลข้างเคียง คือ ง่วงนอน ปากแห้ง
    • ยากล่อมประสาทกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทหลายชนิด (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors หรือ SNRIs) เช่น ดูล็อกซีทีน (Duloxetine) เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) แต่อาจมีผลข้างเคียง ได้แก่ เวียนศีรษะ ท้องผูก ความอยากอาหารลดลง ง่วงนอน คลื่นไส้
    • ยากันชัก เช่น พรีกาบาลิน (Pregabalin) กาบาเพนติน (Gabapentin) ซึ่งอาจมีผลข้างเคียง คือ อาการเวียนหัว ง่วงซึม และบวม

    นอกจากนี้ ยังอาจใช้ยาแก้ปวดที่ขายตามร้านขายยา เช่น ไอบูโพรเฟน อะเซตามิโนเฟน ร่วมกับยากันชัก ยาต้านเศร้า และยากล่อมประสาท เพื่อบรรเทาอาการปวดเส้นประสาทจากเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการใช้ยาแก้ปวดในผู้ป่วยเบาหวานที่เริ่มมีไตเสื่อม

    การจัดการกับภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน และอาการมือชา

    สำหรับวิธีจัดการกับภาวะแทรกซ้อนอาจต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้าน เช่น คุณหมอที่รักษาปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ คุณหมอโรคหัวใจ โดยวิธีการจัดการกับภาวะแทรกซ้อนอาจต้องขึ้นอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

    • ปัญหาทางเดินอาหาร เพื่อบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน คุณหมออาจแนะนำให้รับประทานอาหารมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อยขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงอาหารและการใช้ยาอาจช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ ท้องผูก ท้องร่วงได้
    • ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension) อาจเริ่มต้นด้วยการนั่งหรือยืนช้า ๆ นอนยกหัวเตียงขึ้น 6-10 นิ้ว เพื่อช่วยป้องกันระดับความดันโลหิตแปรปรวน รวมถึงเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ คุณหมอยังอาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์พยุงหน้าท้อง (Abdominal Binder) รวมถึงอาจใช้ยาหลายชนิดร่วมด้วย
    • การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาที่รับประทานหรือฉีดอาจช่วยปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศ แต่ก็อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพสำหรับทุกคน ดังนั้น คุณหมออาจใช้อุปกรณ์สุญญากาศในการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังองคชาต
    • ปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ ยาบางชนิดอาจส่งผลต่อการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ คุณหมอจึงอาจแนะนำให้เปลี่ยนยาหรือหยุดยา ทั้งยังอาจกำหนดให้ปัสสาวะทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง การกดเบา ๆ ที่บริเวณกระเพาะปัสสาวะอาจช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะได้ หากเส้นประสาทบริเวณกระเพาะปัสสาวะเสียหาย อาจต้องการสวนเพื่อเอาปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะ

    วิธีป้องกันโรคเส้นประสาทจากเบาหวานที่ส่งผลให้มือชา

    การรักษาระดับน้ำตาลในเลือดอาจช่วยป้องกันโรคเส้นประสาทจากเบาหวานได้ อย่างไรก็ตาม วิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ก็อาจช่วยป้องกันโรคเส้นประสาทจากเบาหวานได้เช่นกัน

    • รับประทานยาตามที่คุณหมอสั่ง
    • รักษาระดับความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือตามที่คุณหมอกำหนด
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 30 นาที/วัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน
    • ลดน้ำหนักเมื่อมีน้ำหนักเกิน
    • รับประทานอาหารตามแผนการรับประทานเพื่อสุขภาพ
    • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

    โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 04/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา