backup og meta

อาการ Hyperglycemia สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน

อาการ Hyperglycemia สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน
อาการ Hyperglycemia สาเหตุ การรักษาและวิธีป้องกัน

อาการ Hyperglycemia คือ อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น อาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย รู้สึกหิวหรืออยากอาหารผิดปกติ รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีแรง ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานที่รุนแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โรคไต ภาวะเบาหวานขึ้นตา แผลที่เท้าจากเบาหวาน จึงควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพและรับประทานยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างสม่ำเสมอ

[embed-health-tool-bmi]

สาเหตุของ อาการ Hyperglycemia

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีดังนี้

  • รับประทานอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลมากเกินไป เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว ขนมหวาน ของทอด อาหารแปรรูป เพราะอาหารจำพวกแป้งจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งหากรับประทานอาหารดังกล่าวมากเกินไปจะส่งผลให้น้ำตาลในเลือดสูงได้
  • ขาดการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกิน รวมทั้งกระตุ้นให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น จึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
  • ความผิดปกติของตับอ่อน เนื่องจากเซลล์ในตับอ่อนที่มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินถูกทำลาย ไม่ว่าจะเกิดภูมิต้านทานของร่างกายเอง หรือจากปัจจัยภายนอก เช่น ภาวะตับอ่อนอักเสบ อุบัติเหตุ การผ่าตัดตับอ่อน จะส่งผลให้ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินลดลง ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามปกติ จนนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
  • ภาวะดื้ออินซูลิน คือ ภาวะที่เซลล์ในร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้ตามปกติ จึงทำให้แม้ตับอ่อนจะผลิตอินซูลินได้เพียงพอ แต่เซลล์ก็ไม่สามารถนำน้ำตาลไปเปลี่ยนเป็นพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงตามมา

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะ Hyperglycemia เช่น อาการป่วยรุนแรง การติดเชื้อ รวมถึงภาวะความเครียดและกดดันสูง เพราะความเครียด ไม่ว่าจะทั้งทางด้านร่างกายหรือทางจิตใจ จะเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดที่ออกฤทธิ์ต้านกับอินซูลิน จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน ยาขับปัสสาวะ ก็มีผลข้างเคียงที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน

อาการ Hyperglycemia มีอะไรบ้าง

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง มีดังนี้

อาการทั่วไป

  • ปวดศีรษะหรือมึนศีรษะ 
  • ถ่ายปัสสาวะบ่อย
  • รู้สึกหิวบ่อย กระหายน้ำบ่อย
  • มองเห็นภาพไม่ชัดหรือตาพร่ามัว
  • น้ำหนักลดลงกะทันหัน
  • รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนแรง
  • ไม่มีสมาธิ

อาการรุนแรง

อาจเกิดขึ้นเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงมาก ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการรุนแรง ดังนี้

  • ปวดท้อง คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • ลมหายใจมีกลิ่นเปรี้ยวคล้ายผลไม้หมัก
  • ผิวแห้ง ปากแห้ง เนื่องจากขาดน้ำ
  • หายใจหอบ เร็ว
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • นอนหลับมากขึ้น ซึม 
  • แขนขาอ่อนแรงผิดปกติ หรือบางรายอาจมีแขนขากระตุกหรือขยับแบบควบคุมไม่ได้ 

เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่อาจเข้าข่ายภาวะ Hyperglycemia ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เหมาะสม เพราะหากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่อันตราย เช่น ไตวาย เบาหวานขึ้นตา โรคหัวใจและหลอดเลือด แผลเบาหวานเรื้อรัง รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินเฉียบพลัน ได้แก่ ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoscidosis) และภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemic Hyperosmolar Syndrome: HHS) ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

การรักษาอาการ Hyperglycemia

การรักษาอาการ Hyperglycemia มีดังนี้

การรักษาอาการน้ำตาลในเลือดสูงทั่วไป

  • ปรับพฤติกรรมสุขภาพ โดยคุณหมอและนักโภชนาการจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกรับประทานอาหารและการออกกำลังกายเพื่อช่วยลดน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล ซึ่งควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด นับเป็นวิธีการรักษาหลักของผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยในปัจจุบันมียาลดระดับน้ำตาลหลายชนิด ซึ่งออกฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลผ่านกลไลต่างกันไป เช่น ยาที่ช่วยกระตุ้นการผลิตอินซูลินจากตับอ่อน ยาที่ช่วยให้เซลล์ตอบสนองต่ออินซูลินได้ดีขึ้น ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มในสมอง ช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีขึ้น รวมไปถึงยาที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกที่ไต ช่วยเพิ่มการขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ
  • ใช้ยาฉีดอินซูลิน มักใช้ในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ หรือผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แล้วไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ด้วยการรับประทานยา และคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งยาฉีดอินซูลินจะช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้เสมือนกับอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อนของร่างกาย ยาฉีดอินซูลินมีหลายชนิด อาจแบ่งตามการออกฤทธิ์ได้คร่าว ๆ ได้แก่ อินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น อินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง อินซูลินชนิดออกฤทธิ์เร็ว และอินซูลินชนิดออกฤทธิ์นาน

การรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงระดับรุนแรง

  • ให้น้ำเกลือ เพื่อช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไป เนื่องจากเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายอาจขาดน้ำจากการปัสสาวะบ่อย อีกทั้งการให้น้ำเกลือยังช่วยเจือจางน้ำตาลในเลือดให้เข้มข้นน้อยลงด้วย
  • การให้สารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte replacement) อิเล็กโทรไลต์ คือ เกลือแร่ที่อยู่ในกระแสเลือดมีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้เป็นปกติ โดยเฉพาะหัวใจและกล้ามเนื้อ ผู้ที่มีภาวะ Hyperglycemia รุนแรง อาจส่งผลให้ระดับอิเล็กโทรไลต์หลายชนิดในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป คุณหมอจึงจำเป็นต้องให้สารละลายอิเล็กโทรไลต์ทางหลอดเลือดดำ เพื่อรีบรักษาให้ระดับอิเล็กโทรไลต์กลับสู่สมดุล
  • การให้อินซูลินทางหลอดเลือดดำ หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากหรือมีภาวะฉุกเฉิน เช่น ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะโคม่าจากน้ำตาลในเลือดสูง คุณหมอจำเป็นต้องรักษาด้วยการให้อินซูลินทางหลอดเลือดดำเพื่อรีบควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย 

วิธีป้องกันอาการ Hyperglycemia

วิธีป้องกันอาการน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเน้นรับประทานผัก ผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น ผักคะน้า แตงกวา ผักโขม กะหล่ำปลี ผักบุ้ง กะเพรา มะเขือเทศ แอปเปิ้ล ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ปลาแซลมอน ปลาทู อะโวคาโด อัลมอนด์ ถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่ดี แป้งและน้ำตาลสูง เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารแปรรูป ขนมหวาน ของทอด รวมถึงเครื่องดื่ม เช่น น้ำผลไม้แปรรูป น้ำอัดลม เบียร์ ไวน์ โซจู เครื่องดื่มชูกำลัง เพราะอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและทำให้ร่างกายรักษาสมดุลต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นเวลา 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน และเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกิน ทำให้ร่างกายจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น เล่นเกม อ่านหนังสือ ดูหนัง นอนหลับพักผ่อน ออกกำลังกาย เพราะความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
  • หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองและจดบันทึกค่าน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ หากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่า 180-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจหมายความว่ามี อาการ Hyperglycemia ซึ่งควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษา นอกจากนี้ ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีร่วมด้วย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Hyperglycemia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperglycemia/symptoms-causes/syc-20373631.Accessed November 28, 2022

High blood sugar (hyperglycaemia). https://www.nhs.uk/conditions/high-blood-sugar-hyperglycaemia/.Accessed November 28, 2022

High Blood Sugar and Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/diabetes-hyperglycemia.Accessed November 28, 2022

Hyperglycemia. https://medlineplus.gov/hyperglycemia.html.Accessed November 28, 2022

High blood sugar – self-care. https://medlineplus.gov/ency/patientinstructions/000332.htm.Accessed November 28, 2022

Diabetes and Hyperglycemia. https://www.diabetes.co.uk/Diabetes-and-Hyperglycaemia.html.Accessed November 28, 2022

Manage Blood Sugar. https://www.cdc.gov/diabetes/managing/manage-blood-sugar.html.Accessed November 28, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

05/01/2023

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำตาลในเลือดสูงเกิน 200 อันตรายหรือไม่

น้ำตาลในเลือดต่ำ สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการป้องกัน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 05/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา