โรคเบาหวาน คือ ภาวะที่เกิดจากร่างกายผลิตอินซูลินได้ไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ต้อกระจก ต้อหิน โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น การ เช็คเบาหวานด้วยตัวเอง จึงอาจช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เลือกรับประทานอาหาร รวมถึงปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจช่วยควบคุมอาการ รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
[embed-health-tool-bmi]
เช็คเบาหวานด้วยตัวเอง มีประโยชน์อย่างไร
การเช็คเบาหวานด้วยตัวเองทำให้ทราบถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานตั้งเเต่ระยะเเรกเริ่ม เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาโรครวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานรุนแรงที่อาจตามมา ได้แก่
- โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่่ทำให้หลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจและหลอดเลือดสมองอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอาการเจ็บเเน่นหน้าอก หัวใจวาย และ อัมพฤกษ์ อัมพาต
- เบาหวานขึ้นตา เมื่อร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะทำให้เส้นเลือดที่บริเวณจอประสาทตาเสือม รวมถึงทำให้เลนส์ตาบวม ส่งผลให้เกิดอาการ ตาพร่ามัว และอาจเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจก ต้อหิน และ ตาบอดได้
- เส้นประสาทเสื่อม ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงทำให้หลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณปลายมือเเละเท้าเสียหาย ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือในบางรายมีอาการปวดแสบร้อน และหากมีแผลยังทำให้แผลหายช้าอีกด้วย
วิธีเช็คเบาหวานด้วยตัวเอง
วิธีตรวจเบาหวานง่าย ๆ เบื้องต้น สามารถทำได้โดยหมั่นสังเกตสุขภาพของตนเอง โดยผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- กระหายน้ำบ่อย
- หิวบ่อย
- ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดผิดสังเกต
- เหนื่อยล้า อ่อนเพลียง่าย รู้สึกไม่สดชื่น
- แผลหายช้า
- ตามัว มองเห็นไม่ชัดเจน
- ชาปลายมือ ปลายเท้า
นอกจากการสังเกตอาการเเล้ว อาจทำการตรวจระดับน้ำตาลเบื้องต้นเองด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว ซึ่งจะทำให้ทราบค่าระดับน้ำตาลว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่
วิธีตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว
การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยชุดเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว สามารถทำได้ ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาด และเช็ดให้แห้ง
- เปิดเครื่องตรวจน้ำตาลปลายนิ้วและนำแถบแบบทดสอบระดับน้ำตาลสอดเข้ากับเครื่องตรวจ
- ทำความสะอาดนิ้วปลายนิ้วที่จะเจาะเลือด ด้วยแอลกอฮอล์
- ใช้ชุดเข็มสำหรับเจาะเลือดปลายนิ้ว เจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือและบีบปลายนิ้วเบา ๆ ให้เลือดหยดลงบนแถบกระดาษทดสอบ
- ทำความสะอาดปลายนิ้วมือที่เจาะเลือดและปิดแผลเบา ๆ เพื่อห้ามเลือด
- ค่าระดับน้ำตาลในเลือดจะปรากฏขึ้นบนจอ
- แนะนำให้ทำการจดบันทึกค่าน้ำตาลในเเต่ละครั้ง รวมถึงช่วงเวลาที่ทำการตรวจ เช่น ก่อน/หลังจากรับประทานอาหาร หลังการออกกำลังกาย เพิ่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา เมื่อไปพบคุณหมอ
การแปลผลอ่านค่าระดับน้ำตาลในเลือด
การแปลผลค่าระดับน้ำตาลในเลือด อาจแตกต่างกันออกไปตามวิธีการตรวจ ดังนี้
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่ม เป็นการตรวจโดยที่ไม่ต้องงดอาหารและเครื่องดื่ม สามารถตรวจในช่วงเวลาใดก็ได้ หากค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงถึงมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในเกณฑ์การวินิจจัยโรคเบาหวาน
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบอดอาหาร การตรวจวิธีนี้ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่ให้พลังงานเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยสามารถแปลผลได้ 3 ระดับคือ
- ระดับปกติ – ค่าระดับน้ำตาลน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ภาวะก่อนเบาหวาน/เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน – ค่าระดับน้ำตาลอยู่ระหว่าง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- โรคเบาหวาน – ค่าระดับน้ำตาลสูงตั้งเเต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เป็นต้นไป
การป้องกันโรคเบาหวาน
การป้องกันโรคเบาหวาน สามารถทำได้ดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี ไขมันดี เช่น มะเขือเทศ พริก บร็อคโคลี่ หัวกะหล่ำ ขนมปังโฮลวีต เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ ปลาแซลมอน ปลาทู และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น โดนัท น้ำอัดลม เค้ก มันฝรั่ง ไอศกครีม ขนมปังขาว ฟักทอง แตงโม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 150 นาที/สัปดาห์ โดยเเนะนำให้การออกกำลังกายแบบแอโรบิค ที่มีความเหนื่อยระดับกลาง เช่น เดิน วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน เพราะ นอกจากการออกกำลังกายช่วยทำให้ร่างกายเเข็งเเรงโดยรวมเเล้ว ยังช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ทำให้สามารถจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้นด้วย
- หมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี