backup og meta

เบาหวานอาการที่ควรสังเกต

เบาหวานอาการที่ควรสังเกต

เบาหวานอาการที่สังเกตได้สังเกตได้ชัดคือ อาการหิวบ่อย ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมากขึ้น ปากแห้ง ตาพร่า นอกจากนี้ยังอาจมีอาการที่แตกต่างกันตามโรคเบาหวานแต่ละชนิด การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรคเบาหวาน อาจสามารถช่วยให้ผู้ป่วยรู้ตัวไว สามารถเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการที่รุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้

เบาหวานอาการเป็นอย่างไร

อาการเริ่มต้นของเบาหวานทั้ง 2 ประเภทที่คล้ายคลึงกัน มีดังนี้

  • หิวบ่อยและอ่อนเพลีย ร่างกายจะเปลี่ยนอาหารเป็นกลูโคสเพื่อให้เซลล์ดูดซึมและใช้เป็นพลังงาน โดยมีอินซูลินช่วยดูดซึมกลูโคส หากร่างกายสร้างอินซูลินได้ไม่เพียงพอหรือเซลล์ต่อต้านอินซูลิน ก็ไม่สามารถดูดซึมกลูโคสไปเป็นพลังงานให้ร่างกายได้ ทำให้มีอาการหิวบ่อยและเหนื่อยมากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยและกระหายน้ำมากขึ้น โดยปกติคนทั่วไปจะปัสสาวะประมาณวันละ 4-7 ครั้ง แต่ผู้ป่วยเบาหวานอาจปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมกลูโคสได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจึงต้องผลิตปัสสาวะมากขึ้นเพื่อขับน้ำตาลส่วนเกินออกจากร่างกาย และเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมากจึงส่งผลให้ผู้ป่วยกระหายน้ำมากขึ้นตามไปด้วย
  • ปากแห้งและคันผิวหนัง เนื่องจากร่างกายขับของเหลวออกปริมาณมาก ทำให้ร่างกายขาดน้ำและสูญเสียความชุ่มชื้น จนผิวแห้ง ปากแห้ง และมีอาการคันที่ผิวหนัง
  • ตาพร่ามัว การเปลี่ยนแปลงระดับของเหลวในร่างกายอาจทำให้เลนส์ในดวงตาบวมซึ่งส่งผลต่อการโฟกัสของดวงตา และทำให้มีอาการมองเห็นไม่ชัดได้
  • น้ำตาลในเลือดสูง หมายถึงภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะมาก ตาพร่า หิวมากขึ้น ชาที่เท้า เหนื่อยล้า ปัสสาวะมีน้ำตาล น้ำหนักลด ติดเชื้อทางช่องคลอดและผิวหนัง แผลหายช้า
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ หมายถึงภาวะที่ระดับน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม / เดซิลิตร ทำให้เกิดอาการสั่น วิตกกังวล เหงื่อออก สับสน เวียนหัว หิวเพิ่มขึ้น ง่วงนอน ร่างกายอ่อนแอ รู้สึกเสียวซ่าหรือชาที่ริมฝีปาก ลิ้น หรือแก้ม

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 1

อาการของโรคเบาหวานประเภทที่ 1 อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง บางคนอาจมีอาการเกิดขึ้นภายในไม่กี่วัน หรือบางคนอาจมีอาการเกิดขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากร่างกายไม่สามารถดูดซึมพลังงานจากอาหารได้ ทำให้ร่างกายเริ่มเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานแทน จึงส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  • คลื่นไส้และอาเจียน เมื่อร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลกลูโคสในเลือดได้ จึงต้องหันไปใช้พลังงานจากไขมัน ซึ่งการเผาผลาญไขมันจะทำให้เกิดคีโตนขึ้นมา ซึ่งหากมีในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เรียกว่า ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis) ทำให้อาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2

อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักแสดงอาการเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้สังเกตอาการได้ยาก โดยอาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจพัฒนาขึ้นและแสดงอาการในวัยผู้ใหญ่ ดังนี้

  • การติดเชื้อยีสต์ ผู้ป่วยเบาหวานอาจติดเชื้อยีสต์ได้ โดย ภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงจะทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานได้ไม่ดีในการกำจัดเชื้อโรค นอกจากนี้ น้ำตาลในเลือดเองก็เป็นสิ่งที่เชื้อราหรือยีสต์ใช้เป็นอาหารในการเจริญเติบโตอีกด้วย ซึ่งยีสต์อาจเจริญเติบโตในที่ชื้นและอบอุ่น เช่น ซอกนิ้วเท้า ใต้ราวนม ขาหนีบ
  • แผลหายช้า น้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดและทำให้เส้นประสาทถูกทำลาย ทำให้ร่างกายไม่สามารถรักษาบาดแผลได้ การสมานตัวของแผลจึงช้าลงตามไปด้วย
  • ปวดหรือชาที่เท้าหรือขา เกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจทำให้มีอาการสูญเสียความรู้สึกและเสี่ยงบาดเจ็บได้ง่าย เช่น เดินสะดุดจนเป็นแผลแต่ไม่รู้ตัว
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เกิดจากร่างกายเริ่มเผาผลาญกล้ามเนื้อและไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงานแทน จึงส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว

อาการโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

อาการของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจไม่แสดงอาการออกมาเป็นพิเศษ แต่อาจทำให้รู้สึกกระหายน้ำมากกว่าปกติและปัสสาวะบ่อยขึ้น

เบาหวานอาการโคม่า (Hyperosmolar hyperglycemic nonketotic syndrome)

พบในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงทั้ง 2 ประเภท แต่พบมากในเบาหวานประเภทที่ 2 มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและขาดน้ำอย่างรุนแรง ดังนี้

  • น้ำตาลในเลือดสูงกว่า 600 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
  • กระหายน้ำมาก ปากแห้ง ผิวอุ่นและแห้ง ไม่มีเหงื่อ
  • ไข้สูง ร่างกายอ่อนแอ
  • ง่วงนอนหรือสับสน เห็นภาพหลอน
  • สูญเสียการมองเห็น

การป้องกันโรคเบาหวาน

สามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ด้วยวิธี ดังนี้

  • ลดน้ำหนักส่วนเกิน จะช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานได้ โดยเปลี่ยนมาลดการรับประทานอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล และไขมัน หันมารับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง คีนัว รับประทานโปรตีนไม่ติดมัน และไขมันดี เช่น อะโวคาโด น้ำมันรำข้าว รวมทั้งการออกกำลังกายที่ช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันและควบคุมน้ำหนัก
  • เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น ด้วยวิธีออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม เช่น ทำสวน ทำงานบ้าน จะช่วยลดน้ำหนัก ลดน้ำตาลในเลือด และช่วยเพิ่มการทำงานของอินซูลิน
  • เลือกรับประทานผักและผลไม้ให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และคาร์โบไฮเดรต อาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลและลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน
  • กินไขมันดี ร่างกายยังต้องการไขมัน จึงควรเลือกรับประทานไขมันดีแทนไขมันเลว เช่น อะโวคาโด ธัญพืช เมล็ดฟักทอง แซลมอน ทูน่า
  • หลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ดและอาหารที่มีน้ำตาลสูง เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายได้รับแคลอรี่มากเกินไป ทำให้น้ำหนักและไขมันส่วนเกินเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Early Signs and Symptoms of Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/guide/understanding-diabetes-symptoms. Accessed November 16, 2021

Diabetes prevention: 5 tips for taking control. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/in-depth/diabetes-prevention/art-20047639. Accessed November 16, 2021

Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/symptoms.html. Accessed November 16, 2021

Diabetes. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/gestational.html. Accessed November 16, 2021

Type 2 diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-2-diabetes/symptoms-causes/syc-20351193. Accessed November 16, 2021

Type 1 diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/type-1-diabetes/symptoms-causes/syc-20353011. Accessed November 16, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/03/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เบาหวานเกิดจากอะไร

สถิติเบาหวานในประเทศไทย ปัจจัยเสี่ยงและวิธีป้องกันเบาหวานที่ควรรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์กมล โฆษิตรังสิกุล

โรคเบาหวาน · โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 23/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา