backup og meta

เบาหวาน สาเหตุ อาการ ภาวะแทรกซ้อน และการรักษา

เบาหวาน สาเหตุ อาการ ภาวะแทรกซ้อน และการรักษา

เบาหวาน เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากร่างกายจัดการอินซูลินและน้ำตาลได้ไม่ดีพอ เกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่ง สาเหตุ ของเบาหวานอาจเกิดจากพันธุกรรม อายุ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร การติดเชื้อ และโรคอ้วน ดังนั้น การสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอและปรับพฤติกรรมประจำวันบางอย่าง อาจช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

[embed-health-tool-bmr]

เบาหวาน มี สาเหตุ จากอะไร

โดยทั่วไปร่างกายจะมีฮอร์โมนอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตและหลั่งมาจากเบต้าเซลล์ (Beta Cell) ของตับอ่อนคอยทำหน้าที่เผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน จากนั้นจะนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพลังงาน ทั้งยังช่วยนำน้ำตาลบางส่วนไปเก็บไว้ที่ตับในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) เพื่อรอนำไปใช้เป็นพลังงานในช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ฮอร์โมนอินซูลินมีบทบาทสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป แต่หากอินซูลินไม่สามารถลำเลียงน้ำตาลไปยังเซลล์ได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีน้ำตาลสะสมอยู่ในกระแสเลือดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังและเกิดเป็นเบาหวานได้ในที่สุด

สาเหตุ ของ เบาหวาน อาจแบ่งตามชนิดของโรคได้ ดังนี้

  • เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากร่างกายขาดอินซูลินเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายเบต้าเซลล์ในตับอ่อน จนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินไปใช้เผาผลาญน้ำตาลเป็นพลังงานให้กับร่างกายได้ตามปกติ ทำให้มีน้ำตาลปริมาณมากสะสมอยู่ในกระแสเลือดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จึงต้องฉีดยาอินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยทั่วไปต้องฉีดยาอินซูลินทุกวัน
  • เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งเป็นภาวะที่ตับอ่อนสามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ แต่เซลล์ในร่างกายกลับไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป และเมื่อเซลล์ไม่ตอบสนองต่ออินซูลินเป็นเวลานาน ตับอ่อนจะทำงานหนักขึ้นเพื่อผลิตอินซูลินให้ได้มากกว่าเดิม จนส่งผลให้ตับอ่อนอ่อนแอลง และผลิตอินซูลินน้อยลง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องกินยาเบาหวานซึ่งมีทั้งชนิดที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินและชนิดที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและอาการของโรค
  • ภาวะก่อนเบาหวาน เกิดจากภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่สูงพอวินิจฉัยได้ว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของภาวะก่อนเบาหวานนั้นเหมือนกับเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้มีภาวะก่อนเบาหวานมักไม่ทราบว่าตัวเองเสี่ยงเป็นเบาหวาน ในขณะที่อาจมีโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวานเกิดขึ้นในร่างกายแล้ว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต หากผู้มีภาวะก่อนเบาหวานไม่ปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิต อย่างการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมหรือออกกำลังกาย เพื่อระดับน้ำตาลกลับมาเป็นปกติ ก็อาจเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากภาวะดื้ออินซูลินของเซลล์ในร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ เป็นผลมาจากฮอร์โมนที่ผลิตจากรก (Placenta) เบาหวานชนิดนี้เกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ และอาจสามารถหายเองได้หลังคลอด ทั้งนี้ เบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่งผลกระทบต่อครรภ์และสุขภาพของทารกได้ อย่างเช่นเพิ่มโอกาสเสียชีวิตก่อนหรือหลังคลอด รวมถึงเพิ่มโอกาสป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ให้ทารกในอนาคต นอกจากนี้ มารดาที่เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ยังเสี่ยงเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอดมากกว่าคนทั่วไป

อาการของเบาหวาน

อาการของเบาหวาน อาจมีดังนี้

  • เหนื่อยง่าย
  • ปวดปัสสาวะบ่อย
  • หิวบ่อย กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุในเวลาอันสั้น
  • มีอาการชาที่มือและเท้า
  • สายตาพร่ามัว
  • แผลหายช้ากว่าปกติ
  • ผิวแห้ง หยาบกร้าน
  • มีการติดเชื้อราที่ผิวหนัง เหงือก กระเพาะปัสสาวะ หรือช่องคลอดบ่อยครั้ง
  • เป็นโรคผิวหนังช้าง เกิดเป็นรอยปื้นสีคล้ำที่บริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น หลังคอ รักแร้ ขาหนีบ

ภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน มีอะไรบ้าง

ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานที่เกิดขึ้นทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ดังนี้

ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานแบบเฉียบพลัน

เป็นภาวะเเทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ที่เป็นเบาหวาน แม้จะได้รับการวินิจฉัยมาไม่นาน ซึ่งขึ้นอยู่กับการดูเเลสุขภาพของเเต่ละบุคคล

  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหากผู้ที่เป็นเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการที่ร่างกายได้รับยาลดระดับน้ำตาล หรือยาฉีดอินซูลินมากเกินไป ออกกำลังกายหักโหม หรือรับประทานอาหารผิดเวลา หรือน้อยลงมากกว่าปกติ จัดเป็นภาวะที่อันตราย ซึ่งอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการสับสน เวียนศีรษะ หิวหรือโหยมาก อารมณ์แปรปรวน ใจสั่น ตัวเย็น เหงื่อออกมาก หรืออาจหมดสติหรือชักได้
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เป็นภาวะที่ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานสูงมากกว่า 250 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ซึ่งอาจเกิดจากความเครียดของทั้งร่างกายและจิตใจ การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป รับประทานยาหรือฉีดอินซูลินไม่สม่ำเสมอ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ น้ำหนักลดและอ่อนเพลีย ในบางรายอาจรุนแรงจนเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และภาวะเลือดข้นจากน้ำตาลสูงได้

ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนเบาหวานแบบเรื้อรัง มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเกณฑ์มาเป็นระยะประมาณ 5 ปีขึ้นไป เเต่ในผู้ที่ละเลยการดูแลตัวเองและไม่ค่อยตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กว่าจะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานก็มีอาการลุกลามและส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไปเเล้ว โดยภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังของคเบาหวานแบบเรื้อรัง อาจมีดังนี้

  • สุขภาพผิว อาจมีอาการผิวเเห้ง คัน ทำให้ระคายเคืองได้ง่าย และเสี่ยงต่อการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น
  • ภาวะซึมเศร้า เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความกังวล จนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าในที่สุด ในบางภาวะซึมเศร้านี้ ทำให้ผู้ป่วยอาจไม่สนใจดูเเลสุขภาพของตัวเอง จึงทำให้เบาหวานทรุดลงได้มากขึ้นด้วย
  • โรคไต น้ำตาลในเลือดที่สูงเรื้อรังจะทำลายเส้นเลือดขนาดเล็กที่มีหน้าที่กรองของเสียที่ไตจนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเรื้อรังซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากไม่ควบคุมให้ดี อาจจำเป็นต้องล้างไต
  • โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตับ อัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่เป็นเวลานานจะทำให้ผนังหลอดเลือดแดงเสื่อมสภาพและเกิดความผิดปกติ เช่น หลอดเลือดอักเสบ หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ส่งผลทำให้เกิดโรคที่กล่าวไปข้างต้นได้
  • สุขภาพเท้า เบาหวานที่ควบคุมได้ไม่ดีจะส่งผลทำให้ทั้งเส้นเลือดและเส้นประสาทส่วนปลายเสือม ทำให้นอกจากจะมีอาการเท้าชา รับความรู้สึกลดลง เสี่ยงต่อการเกิดแผลเเล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายอีกด้วย หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจเป็นแผลเรื้อรัง และอาจต้องตัดเท้าในบางราย
  • เส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดที่สูงจะทำลายผนังหลอดเลือดของเส้นเลือดฝอย ที่หล่อเลี้ยงเส้นประสาทโดยเฉพาะบริเวณส่วนปลาย เช่น มือและขา ทำให้มีการรับความรู้สึกบริเวณนั้น ๆ ผิดปกติไป เช่น รู้สึกเสียวซ่า ชา แสบร้อนหรือปวดบริเวณปลายมือหรือปลายเท้า
  • ปัญหาจอประสาทตา น้ำตาลในเลือดสูงไปทำลายหลอดเลือดบริเวณจอประสาทตา ส่งผลทำให้การมองเห็นบกพร่อง และอาจทำให้เกิดโรคทางตาอื่นๆ เช่นต้อกระจก ต้อหิน หรือรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้

ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในคุณแม่ที่ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งผลกระทบกับสุขภาพของตัวคุณเเม่เอง และส่งผลต่อทารกในครรภ์ เช่น

  • เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 หลังคลอดในคุณเเม่ โดยส่วนมากเเล้ว ภาวะเบาหวานจะหายไปได้เองหลังคลอด เนืองจากฮอร์โมนกลับสู่สมดุลปกติ เเต่อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงของการเป็นเบาหวานในอนาคตสูงกว่าผู้ที่มีอายุเท่ากัน
  • ภาวะน้ำหนักเกินและเบาหวานชนิดที่ 2ในลูกน้อย จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าทารกที่มีคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เมื่อเติบโตขึ้นอาจมีความเสี่ยงของภาวะน้ำหนักเกิน เเละ เบาหวานชนิดที่ 2 มากกว่าเด็กทั่วไป
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะที่ระหว่างตั้งครรภ์เเล้ว คุณเเม่มีความดันโลหิตที่สูงมากเกินไปจนส่งผลให้ มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ขาและเท้าบวม ซึ่งหากควบคุมไม่ได้ อาจรุนแรงถึงขึ้นอาจชัก เกร็ง หมดสติหรืออาจทำให้เสียชีวิตได้
  • แท้งบุตร หรือทารกเสียชีวิต คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจเพิ่มความเสี่ยงของการแท้งบุตร รวมถึงทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
  • ทารกตัวใหญ่ อาหารที่คุณแม่รับประทานสามารถส่งไปยังทารกในครรภ์ได้ผ่านทางรก ซึ่งเมื่อมีน้ำตาลในเลือดที่มากเกินจะกระตุ้นให้ตับอ่อนของทารกผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้ทารกมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นจนอาจไม่สามารถคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้ และจำเป็นต้องผ่าคลอด
  • ทารกมีน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด เนื่องจากเมื่อคุณเเม่มีน้ำตาลในเลือดสูง ระหว่างอยู่ในครรภ์มารดา ทารกจะได้รับน้ำตาลที่สูงจากคุณเเม่ผ่านทางสายสะดือตามไปด้วย ทำให้งทารกต้องผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมาในปริมาณสูงขึ้นเพื่อจัดการกับน้ำตาลเเต่เมื่อทารกคลอด คุณหมอจะตัดสายสะดือออก ทารกจึงไม่ได้รับน้ำตาลเพิ่มอีก แต่ร่างกายยังคงมีอินซูลินจำนวนมากอยู่ จึงส่งผลให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำและเป็นอันตรายเนื่องจากอาจทำให้ทารกซึม หรือชักได้

การรักษาเบาหวาน

สำหรับการรักษาเบาหวาน คุณหมอจะรักษาคนไข้เบาหวานแต่ละประเภท ด้วยวิธีการที่ต่างกัน ดังนี้

  • เบาหวานชนิดที่ 1 คุณหมอจะฉีดอินซูลินให้ผู้ป่วย หรือให้อินซูลินผ่านเครื่องปั๊ม เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินเองได้ การรักษาจะทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย โดยคุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยนับปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันที่บริโภคต่อวัน เพื่อให้แน่ใจว่าสารอาหารที่ได้รับ จะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในเลือดมากเกินไป
  • เบาหวานชนิดที่ 2 คุณหมอจะใช้ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน ซึ่งมีหลายชนิด
  • ภาวะก่อนเบาหวาน คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เช่นเดียวกับเบาหวานประเภทที่ 1 และ 2 รวมทั้งให้รับประทานยาเมทฟอร์มิน เพื่อป้องการไม่ให้ผู้ป่วยกลายเป็นเบาหวานประเภทที่ 2
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณหมอจะแนะนำให้ผู้ป่วยคอยตรวจระดับน้ำตาลในเลือด รับประทานอาหารที่เหมาะสมและออกกำลังกายที่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ หรือเลือกฉีดอินซูลินให้ผู้ป่วยแทน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What is Diabetes?. https://www.cdc.gov/diabetes/basics/diabetes.html. Accessed April 10, 2023

Diabetes – Causes, symptoms & treatments. https://www.bhf.org.uk/informationsupport/risk-factors/diabetes. Accessed April 10, 2023

Diabetes. https://www.nhs.uk/conditions/diabetes/. Accessed April 10, 2023

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444. Accessed April 10, 2023

Diabetes. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/diabetes. Accessed April 10, 2023

Diabetes Health Center. https://www.webmd.com/diabetes/default.htm. Accessed April 10, 2023

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/05/2023

เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผักลดเบาหวาน บริโภคแล้วช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดได้อย่างไร

Glycemic Index คือ อะไร เกี่ยวกับโรคเบาหวานอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 12/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา