ความไวต่ออินซูลิน หรือ insulin sensitivity คือ การตอบสนองของเซลล์ต่ออินซูลิน ซึ่งหากจะให้เข้าใจกันได้ง่ายขึ้นนั่นก็คือ ถ้าร่างกายมีความไวต่ออินซูลินต่ำ ก็อาจสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้นั่นเอง ดังนั้นการปรับปรุงความไวต่ออินซูลินให้ดีขึ้นด้วยวิธีธรรมชาติ ที่ Hello คุณหมอ นำมาฝากทุกคนวันนี้ จึงอาจช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินลงได้ รวมถึงลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ได้อีกด้วย
ความไวต่ออินซูลิน หรือ Insulin sensitivity คือ อะไร
อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่ง ความไวต่ออินซูลิน (Insulin sensitivity) หมายถึง การตอบสนองของเซลล์ต่ออินซูลิน
ถ้าร่างกายมีความไวต่ออินซูลินต่ำ ก็อาจหมายความได้ว่าคุณกำลังประสบกับภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistant) อยู่ก็เป็นได้ เพราะเซลล์ที่เกิดภาวะดื้ออินซูลิน จะทำให้ไม่สามารถใช้อินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเมื่อตับอ่อนรับรู้ว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง ก็จะผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้นเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งนับว่าการเกิดภาวะดื้ออินซูลินที่ปล่อยไว้เป็นเวลานานจึงอาจนำไปสู่การเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในที่สุด
วิธี เพิ่มความไวต่ออินซูลิน ด้วยวิธีธรรมชาติ
เป็นที่ทราบกันดีว่าการมีความไวต่ออินซูลินต่ำ สามารถส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรัง แต่ก็ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อีกมากมายไม่แพ้กัน เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งเบื้องต้นนั้นคุณควรหมั่นดูแลตนเองเพื่อ เพิ่มความไวต่ออินซูลิน ในร่างกายได้ด้วยวิธีธรรมชาติ ดังต่อไปนี้
-
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
หากคุณนอนน้อย หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจเป็นการช่วยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ดังนั้นคุณควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อป้องกันร่างกายคุณไม่ให้เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และรวมไปถึงป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกับการนอนหลับเพิ่มเติมได้
-
ออกกำลังกายมากขึ้น
การออกกำลังกายแบบแอโรบิค และแบบฝืนแรงต้านทาน (Resistance training) สามารถช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินได้ โดยวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือ ออกกำลังกายทั้งสองชนิดควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่คุณชื่นชอบให้มากขึ้น
-
คลายเครียด
ความเครียด เก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งคุณอาจเริ่มหาวิธีผ่อนคลายด้วยตนเองด้วย การนั่งสมาธิ การออกกำลังกาย ในการบรรเทาความเครียดเบื้องต้นร่วม
-
ลดน้ำหนัก
หากคุณมีน้ำหนักเกิน โดยเฉพาะมีไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าท้อง หรือที่เรียกว่าลงพุง สิ่งเหล่านี้อาจสามารถลดความไวต่ออินซูลินในร่างกายของเราได้ แต่หากคุณลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพที่ดีก็อาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินให้กลับคืนมาได้ตามปกติ และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานอีกด้วย
-
เพิ่มผักและผลไม้หลากสีในมื้ออาหาร
ผักและผลไม้หลากสีอุดมไปด้วยสารประกอบจากพืชที่สามารถเพิ่มความไวต่ออินซูลิน อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรกินผลไม้มากเกินไป แต่ควรปรับทานในปริมาณที่พอดี เนื่องจากผลไม้บางชนิดมีน้ำตาลสูง และอาจมีคาร์โบไฮเดรตสูง ที่อาจส่งผลบางอย่างแก่สุขภาพคุณได้
-
เพิ่มสมุนไพรรสเผ็ดในมื้ออาหาร
งานวิจัยให้ข้อมูลว่า กระเทียม ขมิ้น ขิง และฟีนูกรีกหรือลูกซัด (Fenugreek) อาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินได้ แต่ถึงอย่างไรยังคงมีงานวิจัยที่จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานสมุนไพรในการเพิ่มความไวต่ออินซูลินต่อไปให้แน่ชัด เพื่อที่ทุกคนนั้นจะได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง
-
ดื่มชาเขียวให้มากขึ้น
เนื่องจากชาเขียวอุดมไปด้วยสาร EGCG (Epigallocatechin Gallate) ที่อาจช่วยเพิ่มความไวต่ออินซูลินได้ อีกทั้งนอกจากนี้ชาเขียวยังมีเพิ่มคุณประโยชน์ทางสุขภาพอีกหลายด้าน เช่น แก้ท้องเสีย ต้านการอักเสบ ช่วยขับปัสสาวะ ได้อีกด้วยเช่นกัน
-
ลดคาร์โบไฮเดรต
การกินคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง และเลือกกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ข้าวกล้อง ควินัว ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ กล้วยหอม แอปเปิล ถือเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มความไวต่ออินซูลิน
-
หลีกเลี่ยงไขมันทรานส์
งานวิจัยที่ทดลองในสัตว์พบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างไขมันทรานส์สังเคราะห์และภาวะดื้ออินซูลิน มากกว่างานวิจัยที่ศึกษาในมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลายโรค
-
ลดการกินน้ำตาล
อาหารที่มีฟรักโตสสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะดื้ออินซูลิน จึงควรหลีกเลี่ยงอาการที่มีน้ำตาลสูง หรือการเติมน้ำตาลเพิ่มในอาหาร ก็จะช่วยให้ร่างกายมีความไวต่ออินซูลินมากขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อคุณเองพบว่ากำลังประสบกับปัญหาภาวะดื้ออินซูลิน คุณควรเร่งทำการขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อที่แพทย์นั้น จะได้ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จนนำไปสู่การแนะนำถึงวิธีรักษา หรือวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้องเหมาะสมตามแต่สภาวะปัญหาทางสุขภาพของคุณ
[embed-health-tool-bmi]