backup og meta

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กับข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กับข้อควรรู้สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม คือ สารที่ใช้เติมในอาหารและเครื่องดื่ม สามารถให้รสชาติหวานได้เหมือนน้ำตาล แต่อาจไม่มีแคลอรี่หรือคาร์โบไฮเดรตเหมือนน้ำตาล จึงอาจเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในเลือด เช่น โรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาล อาจช่วยให้บริโภคสารชนิดนี้ได้เหมาะสมและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพได้

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล คืออะไร

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือน้ำตาลเทียม คือ สารที่ใช้เติมในอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มรสหวานได้เหมือนน้ำตาล แต่อาจไม่มีแคลอรี่หรือคาร์โบไฮเดรตเหมือนน้ำตาล นิยมใช้ในอาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการ เช่น น้ำอัดลม ขนมอบ ขนมหวานแช่แข็ง ลูกอม โยเกิร์ตแคลอรี่ต่ำ หมากฝรั่ง หรือบางคนอาจเติมสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในกาแฟ ชา และซีเรียลได้ด้วย

ในปัจจุบัน มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration หรือ FDA) และกระทรวงสาธารณสุขไทยรับรองให้ใช้ได้อย่างปลอดภัย ดังนี้

  1. แอสปาร์แตม (Aspartame) ให้ความหวานได้มากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า อย่างไรก็ตาม ระดับความหวานที่ได้อาจลดลงหากเติมในอาหารหรือเครื่องดื่มร้อนจัด ผู้ที่เป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria หรือ PKU) ซึ่งเป็นภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน ควรหลีกเลี่ยงสารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดนี้
  2. เอซีซัลเฟม โพแทสเซียม (Acesulfame Potassium) หรือที่เรียกว่า Ace-K หวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 200 เท่า นิยมใช้ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่น ๆ
  3. สตีเวีย (Stevia) หรือหญ้าหวาน เป็นพืชที่ให้ความหวานได้มากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 300 เท่า พบได้ในรูปแบบใบสด ใบแห้ง หญ้าหวานผง น้ำเชื่อมหญ้าหวาน เป็นต้น
  4. ซูคราโลส (Sucralose) หวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 600 เท่า
  5. นีโอแตม (Neotame) ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 7,000 เท่า
  6. น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar Alcohol) หรือ โพลิไฮดริกแอลกอฮอล์ (Polyhydric alcohol) เช่น ไซลิทอล ไซลิทอล (Xylitol) ซอร์บิทอล (Sorbitol) ให้พลังงานน้อยกว่าน้ำตาลทราย คือประมาณ 1.5-3 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม ในขณะที่น้ำตาลทรายให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม

สารให้ความหวานแทนน้ำตาลกับโรคเบาหวาน

งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากประเทศออสเตรเลียที่เผยแพร่ใน HealthDay News เมื่อเดือนกันยายน ปี 2017 ระบุว่า การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อการตอบสนองต่อน้ำตาลของร่างกาย และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังสนับสนุนแนวคิดที่ว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลสามารถลดความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของร่างกาย และการบริโภคในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้พัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ที่มีกลุ่มตัวอย่าง 27 คน ดังนั้นจึงยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติม แต่งานวิจัยชิ้นนี้ก็ได้เน้นย้ำข้อมูลที่ว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สามารถส่งผลต่อการตอบสนองของร่างกายต่อกลูโคส (Glucose) ได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Nature ได้ให้ข้อมูลว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ให้พลังงาน 0 กิโลแคลอรี่ เช่น แซ็กคาริน ซูคราโลส แอสปาร์แตม สามารถส่งผลกระทบต่อไมโครไบโอม (Microbiome) ในลำไส้ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหาร จนอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น หากร่างกายไม่สามารถรับมือกับน้ำตาลในปริมาณมาก อาจเกิดภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) และอาจพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

ผู้ที่เป็นเบาหวาน กินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลได้หรือไม่

โดยทั่วไปแล้ว สารให้ความหวานแทนน้ำตาลถือว่าปลอดภัย และยังปลอดภัยสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีพลังงาน หรือให้พลังงานต่ำ ทั้งยังอาจไม่มีคาร์โบไฮเดรต จึงอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานโดยไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด

อย่างไรก็ตาม ดานา แองเจโล ไวท์ (Dana Angelo White) นักโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัย Quinnipiac ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้ข้อมูลว่า การกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาลก็เหมือนกับการกินน้ำตาลปกติ ถ้ากินมากเกินไป สามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ และถึงแม้ว่าหลายคนจะใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อการลดน้ำหนัก แต่หากไม่ควบคุมปริมาณการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ก็สามารถเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มความเสี่ยงสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ตาบอด ทำให้เส้นประสาทและไตเสียหาย

การบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในปริมาณมากและในระยะยาว จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการจึงมักจะแนะนำว่า ไม่ว่าจะเป็นการกินสารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรืออาหารประเภทใดก็ตาม การกินในปริมาณที่พอดีถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Could Artificial Sweeteners Raise Diabetes Risk?. https://www.webmd.com/diabetes/news/20170914/could-artificial-sweeteners-raise-diabetes-risk#1. Accessed on April 9 2019

Are Artificial Sweeteners Safe for People With Diabetes?. https://health.clevelandclinic.org/are-artificial-sweeteners-safe-for-people-with-diabetes/. Accessed on April 9 2019.

Artificial sweeteners: sugar-free, but at what cost?. https://www.health.harvard.edu/blog/artificial-sweeteners-sugar-free-but-at-what-cost-201207165030. Accessed June 14, 2021

Artificial sweeteners and other sugar substitutes. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/artificial-sweeteners/art-20046936. Accessed June 14, 2021

Artificial Sweeteners and Diabetes. https://www.webmd.com/diabetes/artificial-sweeteners-diabetes-patients. Accessed October 26, 2021

Effect of artificial sweeteners on insulin resistance among type-2 diabetes mellitus patients. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7014832/. Accessed October 26, 2021

Artificial Sweeteners. https://dtc.ucsf.edu/living-with-diabetes/diet-and-nutrition/understanding-carbohydrates/demystifying-sugar/artificial-sweeteners/. Accessed October 26, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/06/2022

เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ชาย

อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำกับคนเป็นเบาหวาน กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 16/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา