backup og meta

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบ DTX คือ อะไร

การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบ DTX คือ อะไร

DTX (Dextrostix)  คือ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยการเจาะเส้นเลือดฝอยที่ปลายนิ้ว หากค่าระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และอาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมโรคเบาหวานได้ยากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการแทรกซ้อนจากเบาหวานด้วย

[embed-health-tool-bmr]

DTX คือ อะไร

DTX คือ วิธีการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด โดยการเจาะเส้นเลือดฝอยที่ปลายนิ้ว เพื่อใช้เลือด 1 หยด ในการทดสอบจากเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยก่อนทดสอบผู้ป่วยจะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง 

เกณฑ์การวัดค่าน้ำตาลในเลือด มีดังนี้

  • ค่าน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น อ่อนเพลีย หากมีอาการรุนแรงควรพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน
  • ค่าน้ำตาลในเลือดน้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ 
  • ค่าน้ำตาลในเลือด 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
  • ค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่า 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยเป็นโรคเบาหวาน

อาการแทรกซ้อนจากเบาหวาน

หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ซึ่งอาจรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนี้

  • โรคเส้นประสาทอักเสบหรือเส้นประสาทถูกทำลาย หากมีน้ำตาลในกระแสเลือดมากเกินไป อาจทำให้ผนังหลอดเลือดที่ส่งออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเส้นประสาทเสียหายได้ โดยเฉพาะที่บริเวณขา ส่งผลให้เริ่มรู้สึกชา เจ็บแปลบ แสบร้อน หรือปวดที่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า ก่อนที่อาการจะค่อย ๆ ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ
  • โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบพร้อมมีอาการเจ็บหน้าอก โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันหรือหัวใจวาย โรคหลอดเลือดแข็ง โรคหลอดเลือดสมอง
  • ปัญหาสุขภาพไต ในไตมีกระจุกหลอดเลือดฝอยที่ทำหน้าที่กรองของเสียในเลือด หากน้ำตาลในเลือดสูงอาจส่งผลให้หลอดเลือดฝอยกระจุกนี้ถูกทำลาย และไม่สามารถกรองของเสียได้ตามปกติ หากปล่อยไว้นาน อาจส่งผลให้ไตวาย ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตได้
  • ภาวะแทรกซ้อนที่เท้า หากเส้นเลือดฝอยที่เท้าเสียหายจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง จะส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี และเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพที่เท้าได้ เช่น แผลหรือตุ่มพองหายช้า ติดเชื้อง่าย และอาจติดเชื้อรุนแรงจนต้องตัดนิ้วเท้า เท้า หรือขาทิ้ง
  • โรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี อาจเสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อม เช่น โรคอัลไซเมอร์ ได้

การเตรียมตัวก่อนการตรวจ

การเตรียมตัวก่อนเจาะหาค่าน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดที่ปลายนิ้ว หรือ DTX ด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด อาจมีดังนี้

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องอดอาหารและเครื่องดื่มก่อนเจาะเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เนื่องจากอาหารที่รับประทานเข้าไปมีผลต่อระดับกลูโคสในเลือด แต่สามารถดื่มน้ำเปล่าได้
  • การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดในทารก อาจใช้การเจาะเลือดที่บริเวณส้นเท้า แต่ก่อนเจาะเลือดควรจะต้องทำให้ส้นเท้าทารกอุ่นก่อนโดยการใช้สำลีชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณส้นเท้าเพื่อให้หลอดเลือดขยายตัว

ขั้นตอนการตรวจ

ขั้นตอนการใช้เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด มีดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาด เช็ดมือให้แห้ง เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเจาะเลือดให้พร้อม เช่น เครื่องเจาะน้ำตาล เข็มเจาะชนิดใช้แล้วทิ้ง สำลีแห้ง แอลกอฮอล์ปริมาณ 70%
  • นวดคลึงบริเวณปลายนิ้ว เช็ดทำความสะอาดนิ้วที่ต้องการเจาะด้วยสำลีแอลกอฮอล์ 
  • เจาะเลือดบริเวณตำแหน่งปลายนิ้ว (องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เจาะที่นิ้วกลางและนิ้วนาง)
  • เช็ดเลือดหยดแรกออก ใช้เลือดหยดที่สอง หยดลงบนแถวตรวจ
  • หลังจากนั้นนำสำลีแห้ง มาเช็ดเลือดที่ปลายนิ้ว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

History of Glucose Monitoring. https://professional.diabetes.org/sites/professional.diabetes.org/files/media/db201811.pdf. Accessed May 30, 2023.

“DEXTROSTIX” REVISITED. https://journals.sagepub.com/doi/pdf/10.1177/0310057X7700500314. Accessed May 30, 2023.

High Blood Sugar, Diabetes, and Your Body. https://www.webmd.com/diabetes/how-sugar-affects-diabetes. Accessed May 30, 2023.

Hyperglycaemia (high blood sugar). https://www.nhs.uk/conditions/high-blood-sugar-hyperglycaemia/. Accessed May 30, 2023.

The use of dextrostix and dextrostix reflectance meters in the diagnosis of neonatal hypoglycemia. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/966130/. Accessed May 30, 2023.

Diabetes. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes/symptoms-causes/syc-20371444. Accessed May 30, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/01/2024

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความเสี่ยงสุขภาพที่คุณแม่ป้องกันได้

โรคเบาหวาน ผลกระทบ ที่เกิดขึ้น และการป้องกันโรคเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 28/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา