โรคเบาหวานคือภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ คือ มีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หากถามว่า โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะส่วนใด คำตอบคือ โรคเบาหวานเกิดจากเซลล์ตับอ่อนทำงานผิดปกติ โดยปกติ ตับอ่อนจะทำหน้าที่ผลิตอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยเผาผลาญน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้กับเซลล์ของร่างกาย เมื่อตับอ่อนผลิตอินซูลินไมได้หรือผลิตอินซูลินได้ลดลง จนไม่เพียงพอกับความต้องการ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ และเกิดเป็นโรคเบาหวานในที่สุด เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ จนทำให้เกิดภาวะเเทรกซ้อนที่รุนเเรงตามมาได้
[embed-health-tool-bmi]
โรคเบาหวานเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะส่วนใด
โรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติหลัก ๆ สอง ประการ คือ ประการเเรก เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน โดยในตับอ่อนจะมีเซลล์ ชื่อว่า เบต้าเซลล์ (Beta cell) ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่เรียกว่าอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยการกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย นำน้ำตาลที่ได้รับจากอาหารไปเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงาน หากตับอ่อนถูกทำลายจะทำให้ผลิตอินซูลินได้ลดลง ไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เเละ เกิดเป็นโรคเบาหวานในที่สุด
ประการที่สอง คือ เซลล์ในร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จึงทำให้เเม้ในร่างกายจะมีอินซูลินเพียงต่อ เเต่เซลล์ไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งนำไปสู่โรคเบาหวานได้เช่นกัน ซึ่งระดับน้ำตาลที่เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน คือ ระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมงสูงตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป
หากผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเรื้อรังอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น
- ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ทำให้ตาพร่ามัว มีจุดเลือดออกในตา หากปล่อยทิ้งไว้นาน อาการอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้
- โรคหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่เป็นเบาหวานมักมีโรคร่วมคือ ความดันโลหิตสูงและคอเลสเตอรอลสูง นอกจากนี้ โรคเบาหวานหากควบคุมได้ไม่ดีมีน้ำตาลในเลือดสูงเรื้อรังจะทำให้หลอดเลือดทั่วทั้งร่างกายเสื่อม โดยเฉพาะเส้นเลือดของหัวใจ ทำให้เกิดโรคหัวใจตามมา
- โรคไตจากเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้หลอดเลือดในไตเสียหาย และนำไปสู่โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคเบาหวานลงเท้า หากควบคุมโรคเบาหวานไม่ได้ อาจส่งผลให้หลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน อีกทั้งเส้นประสาทเสื่อมทำใหเเกิดบาดแผลได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะที่บริเวณปลายเท้า ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แผลอาจเกิดการติดเชื้อตามมาและอาจลุกลามจนจำเป็นต้องตัดเท้าหรือตัดขาส่วนนั้น ๆ ได้
ประเภทของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน สามารถแบ่งประเภทหลัก ๆ ได้ดังนี้
- โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักพบตั้งแต่วัยเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวได้เช่นกัน เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างภูมิไปทำลายเบต้าเซลล์ (Beta cells) ในตับอ่อนซึ่งเป็นเซลล์ที่ที่ทำหน้าที่ในการสร้างอินซูลิน จึงทำให้ผลิตอินซูลินได้ลดลงไม่เพียงพอที่จะจัดการกับน้ำตาลได้อย่างเหมาะสม จึงทำให้ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกิดเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินทดเเทน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานชนิดที่พบได้มากกว่า 95% ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย มักเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) ซึ่งเป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่องไป อาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ไม่ค่อยออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง รูปร่างอ้วน น้ำหนักเกิน การรักษาโรคเบาหวานชนิดนี้ สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาลดระดับน้ำตาลร่วมกับการควบคุมการรับประทานอาหาร ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อาการที่ควรรู้ของโรคเบาหวาน
อาการที่ควรรู้ของโรคเบาหวาน มีดังต่อไปนี้
- รู้สึกปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำบ่อย
- รู้สึกหิวตลอดเวลา
- ปัสสาวะบ่อย ต้องตื่นปัสสาวะตอนกลางตื่น
- อ่อนเพลีย รู้สึกไม่มีแรง
- สายตาพร่ามัว (เบาหวานขึ้นตา)
- ปลายเท้าหรือมือชา
- แผลหายช้าผิดปกติ
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือน ในขณะที่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาการมักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป และอาจใช้เวลาหลายปี ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 บางรายจึงอาจไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคนี้ จนกระทั่งเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานเเล้ว
วิธีควบคุมโรคเบาหวานอย่างเหมาะสม
ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถดูเเลตนเองเบื้องต้น ด้วยวิธีดังต่อต่อไปนี้ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
- รับประทานยาลดระดับน้ำตาลหรือฉีดอินซูลินตามขนาดและเวลาที่คุณหมอแนะนำ รวมไปถึงยารักษาโรคประจำตัวอื่น ๆ อย่างเคร่งครัด
- หมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองโดยใช้เครื่องวัดน้ำตาลปลายนิ้ว หากระดับน้ำตาลต่ำหรือสูงกว่าเกณฑ์เป้าหมาย อาจปรับการรับประทานอาหาร หรือ พฤติกรรมสุขภาพ และอาจปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมเพื่อให้ระดับน้ำตาลกลับมาอยู่ในระดับปลอดภัย
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเเนะนำให้ดื่มน้ำวันละอย่างน้อย 2 ลิตร หรือ 8 แก้ว เนื่องจากน้ำเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกาย นอกจากนี้ ในภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจะขับน้ำตาลส่วนเกินทิ้งทางปัสสาวะ จึงควรดื่มน้ำทดเเทนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- การออกกำลังกายมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยแนะนำ การออกกำลังกายในระดับปานกลาง (Moderate physical activity) เช่น การเดินเร็ว การทำสวน การเล่นเทนนิส การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที 5 วัน/สัปดาห์ หรือรวม ๆ 150 นาทีต่อสัปดาห์
- ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินในบุหรี่อาจทำให้ประสิทธิภาพของเซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง ทำให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจอีกด้วย