CGM ย่อมาจาก Continuous Glucose Monitoring เป็นเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบต่อเนื่อง เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่ต้องการควบคุมเบาหวานให้ได้ดี สามารถใช้ติดตามค่าน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาวิธีการใช้งานรายละเอียดข้อมูล ทั้งข้อดี และข้อเสียของเครื่อง CGM ก่อนใช้ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดระหว่างใช้งาน
[embed-health-tool-bmr]
CGM คืออะไร
CGM คือ เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบต่อเนื่อง โดยจะวัดระดับน้ำตาลที่อยู่เนื้อเยื่อซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับระดับน้ำตาลในกระเเสเลือดทุก ๆ 5-10 นาที ตลอด 24 ชั่วโมงแล้วส่งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นไปแสดงผลที่ตัวรับสัญญาน หรือ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนของผุ้ใช้ ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงค่าน้ำตาลในเลือด ณ ขณะนั้น ๆ ได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ เมื่อเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่องรบอายุการใช้งานควรเปลี่ยนเครื่องใหม่ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ ซึ่งอาจเเตกต่างกันในเเต่ละยี่ห้อ
เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่องประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้
- เซนเซอร์ (Sensor) เป็นวัสดุที่ทำจากโลหะ มีขนาดเล็ก ซึ่งจะฝังอยุ่ใต้ผิวหนัง เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลที่อยู่ในเนื้อเยื่อ ส่วนมากมักจะติดเซนเซอร์นี้ที่บริเวณหน้าท้อง และต้นแขนด้านหลัง
- ตัวส่งสัญญาณ (Transmitter) เมื่อเซนเซอร์ตรวจจับระดับน้ำตาล ตัวส่งสัญญาณนี้จะส่งข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ไปยังตัวรับข้อมูล
- ตัวรับข้อมูล (Receiver) มีหน้าที่รับข้อมูลค่าน้ำตาลในเลือดที่ได้ผ่านบลูทูธเข้าแอพพลิเคชั่นที่ติดตั้งบนสมาร์ทโฟนของผู้ป่วย
การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่องแตกต่างจากการตรวจรูปแบบอื่นอย่างไร
การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่องเเตกต่างกับการตรวจน้ำตาลในเลือดทั่วไปหรือการตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว ตรงที่การใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่องผู้ใช้จะสามารถทราบค่าระดับน้ำตาลในเลือดได้ทุกช่วงเวลาตลอด 24ชั่วโมง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือด เนื่องจากมีเซนเซอร์คอยตรวจวัดน้ำตาลอยู่ใต้ผิวหนัง ทำให้ได้ข้อมูลค่าระดับน้ำตาลในเลือดที่ละเอียดครบถ้วนกว่า โดยที่สะดวกเเละไม่ต้องเจ็บตัวหลาย ๆ ครั้ง อีกทั้งยังเหมาะสำหรับผู้ที่กลัวเข็มหรือกลัวเลือดอีกด้วย
การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่องเหมาะสำหรับใคร
ผู้ที่เหมาะกับการตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง มีดังนี้
- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
- ผู้ที่เบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาฉีดอินซูลิน
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมยาก หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดแกว่ง ต่ำและสูงบ่อย ๆ
ข้อดีและข้อเสียของการใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง
ข้อดีและข้อเสียของการใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง มีดังนี้
ข้อดีของเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง
- ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากสามารถตรวจระดับน้ำตาลได้เเบบแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังบอกเเนวโน้มค่าของระดับน้ำตาลและมีระบบการเตือน เช่น หากมีเเนวโน้มค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ที่อาจนำไปสู่ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เครื่องจะส่งสัญญานเตือนผู้ใช้ ให้สามารถเเก้ไขก่อนที่จะเกิดภาวะดังกล่าวได้
- ลดความเจ็บจากการเจาะเลือดปลายนิ้วเนื่องจากเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่องเป็นการติดอุปกรณ์เพียงครั้งเดียวและสามารถใช้งานจนกว่าจะครบอายุการใช้งานของเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง ซึ่งโดยทั่วไปประมาณอาจประมาณ 7-10 วัน
- สะดวกต่อการใช้งาน
- สามารถบันทึกข้อมูลระดับน้ำตาลรวม ถึงมีระบบการแจ้งให้ผู้ดูเเล/คนในครอบครัว หรือคุณหมอทราบได้ทันที หากค่าน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
ข้อเสียของเครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง
- อาจเพิ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่ฝังเซนเซอร์ หากไม่ดุเเลความสะอาดให้ดี
- ค่าใช้จ่ายสูง
- อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเมื่อเคลื่อนไหวได้บ้าง (เเต่ยังคงสามารถอาบน้ำ หรือ ทำกิจกรรมเช่น ออกกำลังกาย ได้ตามปกติ)
วิธีตรวจน้ำตาลในเลือดแบบทั่วไป
หากไม่สะดวกในการใช้เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบต่อเนื่อง ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง โดยใช้เครื่องตรวจระดับน้ำตาลปลายนิ้ว ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเองตามวิธีการเบื้องต้นดังต่อไปนี้
- ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งสนิท
- ใส่เเถบกระดาษทดสอบเข้ากับเครื่องตรวจ
- ทำความสะอาดบริเวณปลายนิ้วด้วยแอลกอฮอล์ จากนั้นใช้ชุดเข็มสำหรับเจาะเลือดปลายนิ้ว เจาะที่ปลายนิ้ว เเล้วบีบเบา ๆ ให้เลือดหยดลงบนกระดาษทดสอบ
- รอเครื่องประมวลผลประมาณ 5 วินาที เครื่องจะเเสดงค่าระดับน้ำตาลที่หน้าจอ
การอ่านค่าน้ำตาลในเลือด
ระดับน้ำตาลอาจแปลผลเบื้องต้นได้ดังนี้
- ค่าน้ำตาลในเลือดปกติ โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 70 – 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากเป็นการตรวจระดับนำ้ตาลก่อนมื้ออาหารจะมีเป้าหมายอยู่ที่ 80 – 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ค่าน้ำตาลในเลือดต่ำ คือ ระดับน้ำตาลน้อยกว่า 70 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ค่าน้ำตาลในเลือดสูง โดยทั่วไปคือ ระดับน้ำตาลมากกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร