GCT หรือ Glucose Challenge Test คือ การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย เป็นวิธีตรวจคัดกรองเบาหวานรูปแบบหนึ่ง มักใช้ตรวจเพื่อหาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ โดยการตรวจคัดกรองเบาหวานในคนทั่วไปและในคุณแม่ตั้งครรภ์อาจมีรายละเอียดและขั้นตอนการตรวจต่างกันเล็กน้อย ในเบื้องต้นจะมีขั้นตอนคร่าว ๆ คือ ให้ผู้ทำการทดสอบดื่มสารละลายกลูโคส แล้วจากนั้นจึงเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อดูว่าร่างกายสามารถจัดการกับน้ำตาลได้ดีมากน้อยเพียงใด
[embed-health-tool-due-date]
GCT คืออะไร
GCT หรือ Glucose Challenge Test นอกจากจะเป็นการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานทั่วไปแล้ว ยังใช้ในการคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วย โดยทั่วไปจะตรวจคัดกรองขั้นแรกด้วยการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล หลังจากที่ให้คุณแม่ดื่มสารละลายกลูโคส 50 กรัม หากผลอยู่ในเกณฑ์ปกติ แปลผลได้ว่าไม่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แต่หากผลผิดปกติ จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมในขั้นที่ 2 จึงจะสามารถบอกได้ว่า มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือไม่
ทั้งนี้ เบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่พบได้ชั่วคราวระหว่างตั้งครรภ์ และมักจะหายได้เองหลังคลอดบุตร สาเหตุของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ ฮอร์โมนฮิวแมน พลาเซนต้า แลกโตรเจน (Human Placental Lactogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรถ และฮอร์โมนชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์มีระดับสูงขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ โดยฮอร์โมนเหล่านี้ออกฤทธิ์ต้านกับฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้คุณแม่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนเกิดเป็นภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ในที่สุด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น ทารกในครรภ์ตัวใหญ่กว่าปกติ คลอดก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ และเมื่อทารกเติบโตขึ้นก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานสูง และเสี่ยงเป็นโรคอ้วนได้ง่ายกว่าเด็กคนอื่น ๆ
Glucose Challenge Test ตรวจตอนไหน
โดยทั่วไป คุณหมอจะทำการตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ด้วยวิธี Glucose Challenge Test ช่วงระหว่างอายุครรภ์ที่ 24 – 28 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจคัดกรอง Glucose Challenge Test ตั้งแต่การฝากครรภ์ครั้งแรก
- มีค่าดัชนีมวลกายเกิน 30 หรือเป็นโรคอ้วน
- เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- มีภาวะสุขภาพที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคเบาหวาน เช่น ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ
- มีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- เคยคลอดบุตรน้ำหนักเกิน 4.1 กิโลกรัม
Glucose Challenge Test เตรียมตัวอย่างไร
ก่อนเข้ารับการตรวจคัดกรองเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ด้วย Glucose Challenge Test คุณแม่สามารถรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร ทั้งนี้ ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหม
GCT ตรวจอย่างไร
ขั้นตอนการตรวจ Glucose Challenge Test หรือ GCT เพื่อคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะแบ่งการตรวจเป็น 2 ขั้นตอนหลัก ๆ ดังนี้
การตรวจขั้นที่ 1
- ในขั้นแรกผู้เข้ารับการตรวจจะยังไม่ต้องงดอาหาร เมื่อถึงเวลานัดคุณหมอจะให้ดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 50 กรัม แล้วรอ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะทำการเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล หากมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคสไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เสี่ยงเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แต่หากมีระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคส มากกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจเสี่ยงเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณหมอจึงจะนัดตรวจในขั้นที่ 2 อีกครั้ง
การตรวจขั้นที่ 2
- ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ และจะทำการเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดทั้งหมด 4 ครั้ง มีขึ้นตอนดังนี้
- เจาะเลือดครั้งที่ 1 เพื่อตรวจระดับน้ำตาลหลังงดอาหาร
- ดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 100 กรัม หลังจากนั้นรอเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคสไปแล้ว 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ
- ระหว่างการเจาะเลือดแต่ละครั้ง ผู้เข้ารับการตรวจจะยังต้องงดอาหารและเครื่องดื่มด้วย
หากผลตรวจในครั้งนี้สูงกว่าเกณฑ์ดังต่อไปนี้ตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร ควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 155 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 3 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
หากคุณแม่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เบื้องต้นคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำให้ปรับอาหาร เน้นลดอาหารที่อุดมไปด้วยแป้ง น้ำตาล และไขมันทรานส์ เช่น ปาท่องโก๋ เค้ก คุกกี้ พิซซ่า อาหารฟาสต์ฟู้ด และปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น หากสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย ก็ไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา แต่หากปรับพฤติกรรมสุขภาพแล้วน้ำตาลยังสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คุณหมอจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยยาฉีดอินซูลิน