OGTT คือ การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย เพื่อตรวจคัดกรองภาวะก่อนเบาหวาน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) วิธีนี้เป็นการทดสอบความสามารถในการเผาผลาญน้ำตาลของร่างกาย หากมีระดับน้ำตาล OGTT สูงกว่าเกณฑ์ แสดงถึงร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการเกิดภาวะก่อนเบาหวาน และโรคเบาหวาน ซึ่งการตรวจ OGTT ช่วยให้คุณหมอสามารถวางแผนการรักษาและให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
OGTT คือ อะไร
OGTT หรือ Oral glucose tolerance test คือ การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องงดรับประทานอาหารเเละเครื่องดื่มที่ให้พลังงานก่อนการตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จากนั้นจะเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาลหลังอดอาหารก่อน แล้วจะให้ดื่มสารละลายกลูโคสเพื่อทดสอบการทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย จากนั้นจึงเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาลซ้ำอีกครั้ง หากค่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็นสัญญาณบอกว่าผู้รับการทดสอบนั้นมีภาวะก่อนเบาหวานหรือเป็นโรคเบาหวานแล้ว
ควรทดสอบความทนทานต่อน้ำตาลเมื่อใด
แนะนำ การตรวจ OGTT ในผู้ที่มีภาวะสุขภาพดังต่อไปนี้
- มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ (ค่าดัชนีมวลกาย ≥ 25 กก./ม2 ) หรือเป็นโรคอ้วน
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง
- มีภาวะกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic ovarian syndrome)
- ผู้ที่เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ เคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักแรกเกิดเกิน 4 กิโลกรัม
วิธีทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล OGTT
การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล สามารถทำได้ดังนี้
บุคคลทั่วไป
ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจ OGTT จะต้องงดอาหารและเครื่องดื่มอื่นที่ให้พลังงาน ก่อนเข้ารับการทดสอบอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (แต่ไม่เกิน 14 ชั่วโมง)
เมื่อถึงเวลานัด บุคลากรทางการแพทย์จะทำการเจาะเลือดครั้งที่1 เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร จากนั้นให้ผู้เข้ารับการตรวจดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 75 กรัม แล้วรอเป็นระยะเวลา 2 ชั่วโมง จึงเจาะเลือดครั้งที่ 2 เพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือดซ้ำอีกครั้งเพื่อวัดความทนทานต่อน้ำตาลของร่างกาย โดยในช่วงระยะเวลา 2 ชั่วโมงนี้ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องงดอาหารเเละเครื่องดื่มด้วย
หญิงตั้งครรภ์
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ส่วนมากเเล้วจะเข้ารับการตรวจ OGTT เมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ เพื่อตรวจภาวะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยมีขั้นตอนแตกต่างจากบุคคลทั่วไปเล็กน้อยดังนี้
ในขั้นแรกผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องงดอาหารมา โดยเมื่อถึงเวลานัด จะให้ดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 50 กรัม แล้วรอเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะทำการเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาล โดยหากมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคสไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เเต่หากมีระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคส มากกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณหมอจึงจะนัดตรวจในขั้นที่ 2 อีกครั้ง
การตรวจในขั้นที่ 2 ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องงดอาหารเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และจะทำการเจาะเลือดตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือดทั้งหมด 4 ครั้ง มีขั้นตอนดังนี้
- เจาะเลือดครั้งที่ 1 เพื่อตรวจระดับน้ำตาลหลังงดอาหาร
- ดื่มสารละลายกลูโคสปริมาณ 100 กรัม หลังจากนั้นรอเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคสไปแล้วที่ 1 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ
- โดยระหว่างการเจาะเลือดเเต่ละครั้ง ผู้เข้ารับการตรวจจะยังต้องงดอาหารเเละเครื่องดื่มด้วย
ค่า OGTT บ่งบอกภาวะทางสุขภาพได้อย่างไรบ้าง
การทดสอบความทนทานต่อน้ำตาล หรือ OGTT สามารถบอกผลทางสุขภาพได้ดังนี้
สำหรับบุคคลคนทั่วไป
- หากระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคสน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงถึงร่างกายมีความทนทานต่อน้ำตาลปกติ
- หากระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคสอยู่ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงถึงร่างกายมีความทนทานต่อน้ำตาลบกพร่อง มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และอาจมีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) ซึ่งคุณหมออาจแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติม รวมทั้งให้ออกกำลังกายและควบคุมอาหารเพื่อลดความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานในอนาคต
- หากระดับน้ำตาลหลังดื่มสารละลายกลูโคสมีค่าตั้งเเต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป จะเข้าหนึ่งในเกณฑ์ของการวินิจฉัยโรคเบาหวาน
สำหรับหญิงตั้งครรภ์
- การตรวจขั้นที่1 (ดื่มสารละลายกลูโคส 50 กรัม)
- หากมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง ไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- หากระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง มีค่าสูงกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร แสดงถึงอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยคุณหมอจะนัดให้มารับการทดสอบขั้นที่ 2 เพิ่มเติม
- การตรวจขั้นที่2 (ดื่มสารละลายกลูโคส 50 กรัม)
เป็นการทดสอบเพิ่มเติม เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากผลตรวจในครั้งนี้สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 1 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 2 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 155 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- ระดับน้ำตาลในเลือดหลังดื่มสารละลายกลูโคส 3 ชั่วโมง ควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
หากมีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เบื้องต้นคุณหมอจะแนะนำให้ควบคุมอาหาร โดยลดปริมาณอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตลงให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งเลือกรับประทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เพื่อให้คุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพแข็งแรง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ได้