backup og meta

Postprandial Glucose คือ อะไร เกี่ยวกับเบาหวานอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์ · โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/01/2023

    Postprandial Glucose คือ อะไร เกี่ยวกับเบาหวานอย่างไร

    Postprandial Glucose คือ ระดับน้ำตาลกลูโคสหลังมื้ออาหาร ซึ่งหากมีค่ามากกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมอาจหมายถึงเป็นโรคเบาหวานได้ วิธีตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสหลังมื้ออาหารโดยทั่วไป คุณหมอจะให้ผู้รับการตรวจดื่มน้ำเชื่อมกลูโคสแล้วรอเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จึงเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าระดับน้ำตาล

    Postprandial Glucose คือ อะไร

    Postprandial Glucose หรือระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังมื้ออาหาร หมายถึง ระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้นหลังบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง มันฝรั่งทอด น้ำหวาน

    โดยทั่วไป ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดจะขึ้นสูงสุดในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังมื้ออาหาร และจะค่อย ๆ ลดลงจนอยู่ในระดับปกติภายใน 2-3 ชั่วโมง

    ทั้งนี้ ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังมื้ออาหารของผู้ที่มีสุขภาพปกติจะไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่านั้น หมายความว่า เป็นโรคเบาหวาน

    ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังมื้ออาหาร ตรวจได้อย่างไร

    การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังมื้ออาหาร สามารถตรวจด้วยวิธีที่เรียกว่า 2-hour Glucose Tolerance Test หรือการตรวจความทนทานต่อกลูโคสแบบ 2 ชั่วโมง โดยผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องงดอาหารเเละเครื่องดื่มที่มีพลังงานอย่างน้อย 8 – 12 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ

    เมื่อถึงห้องตรวจ จะให้ผู้รับการตรวจดื่มสารละลายกลูโคส 75 กรัม ให้หมดภายใน 5 นาที จากนั้นรอ 2 ชั่วโมงเเล้วจึงเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าร่างกายสามารถจัดการกับน้ำตาลได้ดีมากน้อยเพียงใด โดยระหว่างนี้ยังมิให้รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มก่อนเจาะเลือด สำหรับค่าระดับน้ำตาล สามารถแปลผลได้ดังต่อไปนี้

    • ระดับน้ำตาลต่ำกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง สุขภาพปกติ
    • ระดับน้ำตาล 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะก่อนเบาหวาน 
    • ระดับน้ำตาลตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หมายถึง เข้าข่ายเป็นโรคเบาหวาน

    ทั้งนี้ ระหว่างรอเจาะเลือด ไม่ควรสูบบุหรี่หรือออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้ อีกทั้งควรทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรวิตกกังวล เพราะความเครียดอาจทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้เช่นกัน

    ใครบ้างที่ควรเข้ารับการตรวจ Postprandial Glucose

    ปกติแล้ว คุณหมอจะขอตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังมื้ออาหาร ในผู้ที่เสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน เช่น เคยมีภาวะก่อนเบาหวาน เคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของเบาหวานเช่น 

  • ถ่ายปัสสาวะบ่อย
  • กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • สายตาพร่ามัว
  • รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง
  • หิวบ่อย 
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • แผลหายช้า
  • Postprandial Glucose ต่างกับ Fasting Blood Glucose อย่างไร

    Postprandial Glucose คือ ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังมื้ออาหาร ในขณะที่ Fasting Blood Glucose คือ ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดขณะอดอาหาร 

    ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดขณะอดอาหาร ต้องงดอาหารและเครื่องดื่มที่มีพลังงานมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง แล้วจึงเจาะเลือดตรวจ (โดยไม่ต้องดื่มน้ำเชื่อมหรือนั่งรอ) และสามารถแปลผลค่าระดับน้ำตาลได้ดังนี้

    • ระดับน้ำตาลต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง สุขภาพปกติ
    • ระดับน้ำตาล 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หมายถึง เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะก่อนเบาหวาน
    • ระดับน้ำตาล 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป หมายถึง เข้าข่ายกำลังเป็นโรคเบาหวาน

    ทั้งนี้ หลังตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดหลังมื้ออาหาร ด้วยวิธีตรวจความทนทานต่อกลูโคสแบบ 2 ชั่วโมงแล้ว บางครั้งอาจจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบอดอาหาร หรือการตรวจระดับน้ำตาลสะสม โดยเฉพาะในผู้ที่มีค่าระดับน้ำตาลระหว่าง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงบุรัสกร ทวีบูรณ์

    โรคเบาหวาน · SRK BMI Center


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 13/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา