มีจุดขาวๆบนหัวนม เหมือนไวท์ดอท แต่ไม่ได้ท้องค่ะ
หนูมีจุดขาวๆ เหมือนหัวสิว ที่หัวนม ไปอ่านมาก็เจอข้อมูลว่าเป็นไวท์ดอท แต่จะเกิดกับคนที่ให้นมบุตร แต่หนูไม่ได้ท้องนะคะ ไม่เคยมีลูกมาก่อน เกิดจากอะไรได้บ้างคะ มีอาการเจ็บเต้าด้วยค่ะ ก่อนหน้า 1 เดือน มีเลือดออกที่หัวนม ไปรักษาที่ รพ.มา ทำ แมมโมแกรมและอันตร้าซาวน์ แต่ผลออกมาไม่เจออะไรเลยค่ะ หมอบอกว่าปกติทุกอย่าง อยากทราบว่าเกิดขี้นได้อย่างไรคะ
จุดสีขาวบนหัวนม ที่สอบถาม เข้าได้กับ จุดขาวที่หัวนม (white dot) ซึ่งอาจมีลักษณะทางผิวหนังอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตุ่มพอง (milk blister หรือ bleb) ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่ตั้งครรภ์ หลังคลอด สาเหตุหลักที่สำคัญ คือ การอุดตันหรือการที่มีการขัดขวางท่อน้ำนมในเต้านม จากการมีน้ำนมข้น การตกค้างเป็นเวลานานของน้ำนม เช่นการที่ทารกดูดนมในเวลาที่สั้นเกินไป และอาจเป็นผลจากการใส่เสื้อชั้นในที่คับหรือมีโครงแข็งทำให้เกิดการกดลงบนเนื้อเต้านม ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการไหลของน้ำนม มักพบว่า น้ำนมบีบไม่ค่อยออก เนื้อน้ำนมข้น บีบหรือปั๊มได้ยาก การออกของน้ำนมใช้เวลานาน ซึ่งความเครียดมีส่วนสำคัญทำให้เกิดการสร้างและไหลไม่ดีของน้ำนม อาการที่พบร่วมด้วยเช่น การบวมของหัวนมและเจ็บบริเวณที่เป็นปัญหา สิ่งสำคัญคือ การเกิดการอุดกั้นของท่อน้ำนมนี้อาจนำไปสู่การอักเสบ หรือติดเชื้อบริเวณเต้านม หรืออาจเป็นฝีหนองได้ การรักษาจึงมุ่งเน้นการระบายการคั่งค้างของน้ำนมและลดปัญหาการอักเสบที่อาจเกิดขึ้น การประคบด้วยความอุ่น การนวดที่เหมาะสม การให้นมบุตรที่เหมาะสม และหากมีอาการมาก หรือแก้ไขเบื้องต้นด้วยการประคบ การนวด ด้วยตนเองไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจและพิจารณาการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้การตรวจรักษาอื่นๆ เช่น การประเมินการติดเชื้อ การอักเสบ การพิจารณาใช้เข็มปลอดเชื้อเขี่ยบริเวณที่มีการอุดตันภายนอก การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound diathermy) เป็นต้น
ในบางกรณี จุดสีขาวบนหัวนม ยังสามารถพบได้ในผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ซึ่งที่สอบถามมา มีความเข้าได้กับจุดสีขาวบนหัวนม ที่สามารถพบได้ในสตรีในช่วงเป็นประจำเดือน ช่วงที่รับประทานยาคุมกำเนิด หรือในกรณีการใช้การคุมกำเนิดที่ทำให้มีระดับฮอร์โมนในร่างกายสูง ความเครียด อาการที่มักพบร่วมได้แก่ คัดตึง อาการเจ็บบริเวณหัวนม หากไม่เจ็บ บวมอักเสบมาก หรือติดเชื้อ ส่วนมากจะหายได้เอง แต่กรณีที่ระบุว่าพบว่ามีเลือดออกที่หัวนม แม้ว่าจะได้ทำการตรวจด้วยแมมโมแกรมและอัลตร้าซาวด์เต้านมแล้ว ก็ควรที่จะตรวจติดตาม การคลำเต้านมด้วยตนเอง การตรวจสุขภาพ การตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ว่ามีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคเนื้องอก หรือมะเร็งฯได้