ออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์

คุณหมอครับ ผมทราบมาว่าผู้หญิงท้องควรออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีระหว่างท้อง แต่ว่าคาใจครับ ในเมื่อผมเคยได้ยิน (ซึ่งไม่แน่ใจว่าถูกต้องแค่ไหน) ว่าการที่หญิงท้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก ๆ จะทำให้ครรภ์กระทบกระเทือนจนอาจแท้งได้ ดังนั้น เลยอยากรู้ครับว่า การออกกำลังสำหรับคนท้องนี่เป็นแบบไหนครับ แล้วช่วงที่ท้องอ่อน ๆ เดือนแรก ๆ กับท้องแก่ ผู้หญิงท้องสามารถออกกำลังกายได้ในรูปแบบเดียวกันไหมครับ

2
41k
1 ความคิดเห็น

1 ความเห็น

สวัสดีค่ะ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้นะคะ เพราะจะช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ลดอาการเป็นตะคริวซึ่งเป็นปัญหาสำคัญสำหรับคนท้อง แต่คุณแม่แต่ละรายอาจจะแตกต่างกันค่ะ

การฝึกบริหารกล้ามเนื้อในคุณแม่ตั้งครรภ์ จะช่วยลดอาการปวดเมื่อยที่หลังและแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ส่วนกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานหากแข็งแรงขึ้นจะช่วยให้เบ่งคลอดง่ายขึ้นด้วยค่ะ อีกทั้งการออกกำลังกายจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ขับถ่ายปกติ ท้องไม่ผูก และช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวได้เร็วหลังคลอดอีกด้วย

การออกกำลังกายในขณะตั้งครรภ์ที่เหมาะสม คือ การเดิน ปั่นจักรยานอยู่กับที่ การเต้นแอโรบิกในน้ำ หรือบนบกแบบเบา ๆ การว่ายน้ำ การบริหารแบบยืดเส้น การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และโยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องไม่หักโหมจนเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายคุณแม่เหนื่อยหอบขาดออกซิเจน มีผลต่อลูกน้อย ซึ่งถือว่าอันตรายมากค่ะ

สำหรับคุณแม่ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อเปลี่ยนมาออกกำลังกายในขณะตั้งครรภ์ควรจะลดเวลาและลดความรุนแรงลง แต่สำหรับคุณแม่ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน และมาออกกำลังกายในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ จะต้องระมัดระวัง ควรออกกำลังกายประเภทเบา ๆ เช่น เดิน โยคะท่าง่าย เป็นต้น และที่สำคัญ คือ ควรมีการ warm up และ cool down ด้วยทุกครั้งที่มีการออกกำลังกายค่ะ และควรดื่มน้ำเพื่อชดเชยการเสียน้ำจากร่างกาย แต่ถ้าชีพจรเต้นเร็วจนรู้สึกเหนื่อย ให้หยุดพักทันทีค่ะ

ในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ไม่ควรออกกำลังกายท่านอน เพราะมดลูกจะกดเส้นเลือดทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกน้อยลง และควรเลี่ยงการยืน เดิน หรือนั่งนานจนเกินไปค่ะ

แต่ก็มีคุณแม่บางรายที่มีปัญหาเรื่องโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดต่ำ หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น มีน้ำหรือเลือดออกทางช่องคลอด มีการเกร็งตัวของมดลูก หรือมีโอกาสการคลอดก่อนกำหนด แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลฝากครรภ์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย เพื่อจะได้ประเมินความเสี่ยงก่อนค่ะ

1 ปีที่แล้ว
ชอบ
ตอบกลับ
ค้นหาชุมชนของคุณ
สำรวจกลุ่มชุมชนของเราตามหัวข้อด้านสุขภาพที่คุณต้องการมากที่สุด"