การกรน เป็นเรื่องที่น่ากวนใจทั้งสำหรับคุณ และคนที่นอนกับคุณ อย่างไรก็ตาม หากการกรนมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) อาการกรนจะกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรงได้ และสามารถทำให้โรคประจำตัวของคุณแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคความดันโลหิต มาดูกันว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ กับ โรคความดันโลหิตสูง เกี่ยวข้องกันอย่างไร
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับคืออะไร
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เป็นภาวะที่มีการหยุดหายใจระยะสั้นๆ ซ้ำๆ ในขณะนอนหลับ อาการนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาหลายอย่างของหลอดเลือดหัวใจ และหนึ่งในปัญหานั้นคือ ความดันโลหิตสูง แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ภาวะนี้ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือในทางกลับกัน แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างภาวะทั้งสองภาวะนี้ ที่ผู้ป่วยมักเกิดอาการไปพร้อมๆ กัน และยังมีหลักฐานยืนยันว่า ผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูง
ในขณะหลับ เมื่อคุณหยุดหายใจชั่วขณะ ปริมาณออกซิเจนในร่างกายจะลดลง ซึ่งกระตุ้นการตื่นตัวของสมอง เมื่อเกิดภาวะนี้ สมองจะสั่งการไปยังระบบประสาท ให้เส้นเลือดบีบรัดตัว เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจนไปยังอวัยวะสำคัญ กล่าวคือหัวใจและสมอง ปฏิกิริยานี้ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และเพิ่มภาระให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานหนักขึ้น กลไกที่ว่านี้เกิดซ้ำหลายๆ ครั้งในเวลากลางคืน เนื่องจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ในบางกรณี เมื่อผู้ป่วยสะดุ้งตื่นเนื่องจากหยุดหายใจ ร่างกายจะตกอยู่ในภาวะตึงเครียด และจะตอบสนองโดยการหลั่งฮอร์โมน ที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น และหลอดเลือดขยายตัว ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เมื่อเกิดภาวะนี้ซ้ำๆ ในช่วงเวลากลางคืน ภาวะความดันโลหิตสูงจะรุนแรงขึ้นตามไปด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า การหยุดหายใจนั้นกินระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาทีจนถึงหลายนาที และอาการจะเกิดขึ้นสูงสุดถึง 30 ครั้ง หรือมากกว่า ในระยะเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง อาการนี้ส่งผลต่อคุณภาพการนอนของผู้ป่วย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาวะทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่า มีภาวะความดันโลหิตสูง อาการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้ภาวะความดันรุนแรงมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
วิธีรับมือกับการหยุดหายใจขณะหลับและความดันโลหิตสูง
หากคุณอยู่ระหว่างการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรือการรับประทานยาแล้ว คุณควรเข้ารับการตรวจ เพื่อวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วย หนึ่งในวิธีการรักษาภาวะความดันโลหิตสูงก็คือ การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่เพียงแต่จะทำให้ความดันโลหิตสูงในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความดันโลหิตในเวลากลางวันอีกด้วย การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถจัดการกับภาวะปัญหาทางการนอน และภาวะความดันโลหิตสูง เพื่อคุณภาพของสุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้น
หากคุณมีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว คุณควรเข้ารับการประเมินอาการหยุดหายใจขณะหลับ หากคุณไม่มีอาการความดันโลหิตสูง แต่มีสัญญาณที่บ่งถึงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คุณก็ควรเข้ารับการตรวจ และการเข้ารับการรักษาอาการเป็นสิ่งที่ควรทำโดยเร็ว เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพอื่นๆที่อาจตามมาในระยะยาว
[embed-health-tool-bmi]