ปวดศีรษะ มีตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรง สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ ไปจนถึงอาการปวดหัวรุนแรง ซึ่งถ้าคุณมีอาการปวดหัวเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรักษาอาการต่อไป
คำจำกัดความ
อาการ ปวดศีรษะ คืออะไร
อาการปวดศีรษะ คืออาการปวดที่อาจขึ้นได้ในทุกบริเวณของศีรษะ อาจปวดทั้งสองข้าง หรือปวดเพียงข้างใดข้างหนึ่ง อาจปวดรุนแรง ปวดจี๊ด หรือ ปวดตื้อ อาการอาจค่อย ๆ เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และอาจปวดเป็นชั่วโมงหรือปวดตลอดวัน
อาการปวดศีรษะแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- ปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (Primary headaches) เป็นการปวดศีรษะที่ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ปวดไมเกรน ปวดศีรษะจากความเครียด และปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์
- ปวดศีรษะแบบทุติยภูมิ (Secondary headaches) เป็นอาการปวดศีรษะที่เกิดจากโรคอื่น ๆ
ปวดศีรษะ พบได้บ่อยแค่ไหน
อาการปวดศีรษะเป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยที่สุดในคนทุกเพศ ทุกวัย แต่สามารถจัดการได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยง โปรดปรึกษาแพทย์หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการปวดศีรษะ
อาการปวดศีรษะอาจแตกต่างกันไป ตามประเภทของการปวดศีรษะ เช่น
อาการปวดศีรษะที่เกิดจากความเครียด (Tension headache)
- มีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง
- มีอาการปวดทั้งศีรษะ
- มีอาการปวดตลอดทั้งวัน
- ปวดตอนตื่นนอน
- มีอาการเหนื่อยล้า
- ไม่มีสมาธิ
- มีปฏิกิริยาไวต่อแสงและเสียงดัง
- ปวดกล้ามเนื้อ
อาการปวดศีรษะไมเกรน (Migraines headache)
- มีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง
- ตาพร่า
- คลื่นไส้และอาเจียน
- ปวดท้อง
- เบื่ออาหาร
- เกิดจุดบอดในตา
- ผิวซีด
อาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster headaches)
- ปวดแบบสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และมีอาการปวดรุนแรงคล้ายอาการแสบไหม้ หรือถูกเจาะ
- ปวดบริเวณด้านข้างศีรษะ
- ปวดที่ดวงตาหรือบริเวณกระบอกตาข้างใดข้างหนึ่ง เพียงข้างเดียวตลอดโดยไม่เปลี่ยนข้าง
- อาการจะค่อยๆ หายไป และจะกลับมามีอาการใหม่ภายในวันเดียวกัน หรือวันต่อๆ ไป
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
โดยทั่วไป อาการปวดศีรษะนั้นไม่เป็นอันตรายและสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม อาการปวดศีรษะที่รุนแรงนั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคภัยไข้เจ็บบางประการ เช่น เนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดสมอง
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของการปวดศีรษะ
มีปัจจัยหลายประการที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะได้ อาการปวดศีรษะบางครั้งอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือกิจกรรมของคุณเองเป็นตัวกระตุ้นโรคประจำตัวก็อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะได้เช่นกัน หรืออาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไวน์แดง
- เนื้อสัตว์รมควัน
- การอดนอน
- อาการปวดกล้ามเนื้อจากท่าทางที่ไม่เหมาะสม
- รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา
- ภาวะขาดน้ำ
- ความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
- การออกกำลังกายมากไป หรือน้อยเกินไป
- การใช้ยาผิดประเภท
- การรับประทานอาหารเย็นจัด
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดศีรษะ
มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ได้แก่
- บุคคลในครอบครัว มีประวัติบุคคลในครอบครัวมีอาการเดียวกันมาก่อน
- อายุ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีเป็นต้นไปส่วนใหญ่จะมีอาการไมเกรน
- เพศ เพศหญิงมีโอกาสเป็นไมเกรนได้มากกว่าชาย 3 เท่า
- ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในเพศหญิงมักมีอาการปวดศีรษะก่อนมีรอบเดือน
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการปวดศีรษะ
ขั้นตอนแรกของการวินิจฉัยอาการปวดศีรษะคือ การตรวจร่างกายเบื้องต้น รวมถึงการตรวจสอบประวัติการแพทย์ของคุณ
คุณควรแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับอาการปวดศีรษะ ลักษณะของการปวดศีรษะ ระยะเวลาและช่วงเวลาที่ปวด รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นให้แพทย์ทราบอย่างละเอียดเว
การจดบันทึกรายละเอียดของอาการที่คุณมีและแจ้งให้แพทย์ทราบจะช่วยให้การตรวจวินิฉัยโรคแม่นยำยิ่งขึ้น
การรักษาอาการปวดศีรษะ
โดยทั่วไป วิธีรักษาอาการปวดศีรษะนั้นสามารถทำได้ด้วยการซื้อยามารับประทานเอง
อาการปวดศีรษะจากความเครียดนั้นสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ได้แก่
- แอสไพริน (Aspirin)
- นาพร็อกเซน (Naproxen)
- อะซีตามิโนเฟน (Acetaminophen)
- ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ไม่ควรใช้มากเกินไป ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ การใช้ยาที่ซื้อมาเองมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะจากการใช้ยาเกินได้ หากใช้ยาแก้ปวดมากเกินไป ทำให้ร่างกายคุ้นชินกับการใช้ยาและอาจทำให้อาการปวดศีรษะรักษาได้ยากขึ้น
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับอาการปวดศีรษะ
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกับอาการปวดศีรษะได้
- ทำสมาธิ
- ฝึกผ่อนคลาย
- การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT)
- การตรวจสอบความสมดุลของร่างกาย (Biofeedback)
ด้วยเทคนิคการผ่อนคลายที่จะช่วยคุณรับมืออาการปวดและความเครียดได้ดีขึ้น
- การฝังเข็ม
- การนวดและยืดต้นคอเบาๆ
- การประคบอุ่นหรืออาบน้ำอุ่น
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]