backup og meta

10 วิธีบรรเทา อาการคัน ผิวหนัง

10 วิธีบรรเทา อาการคัน ผิวหนัง

อาการคัน อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังแห้ง อาการแพ้ หรือโดนยุงกัด นอกจากนี้ อาการคันยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคสะเก็ดเงิน แม้บางครั้งอาการคันอาจไม่ได้รุนแรง และสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้

10 วิธีบรรเทา อาการคัน

1. น้ำมันมะพร้าว

น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัว เช่น กรดลอริก (Lauric Acid) ซึ่งอาจช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น และป้องกันไม่ให้ผิวหนังได้รับความเสียหายจากสภาพแวดล้อม โดยอาจใส่น้ำมันมะพร้าวลงในอาหาร หรือจะนำมาทาลงบนผิวโดยตรงเหมือนทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ก็ได้เช่นกัน

2. ปิโตรเลียม เจลลี่

ปิโตรเลียม เจลลี่ (Petroleum Jelly) คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีเพียงส่วนผสมเดียว จึงอาจเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่าย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบ้านบางชนิด เช่น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอง น้ำยาทำความสะอาดพื้น อาจก่อให้เกิดอาการคันสำหรับผู้ที่แพ้ส่วนผสม รวมถึงอาจทำลายเซลล์บนผิวหนัง นอกจากนี้การใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีเยอะ ก็อาจทำให้ผิวบริเวณที่เกิดอาการคันแย่ลง หรืออาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองได้ สถาบันผิวหนังแห่งอเมริกา (American Academy Dermatology) ได้แนะนำให้ใช้ปิโตรเลียม เจลลี่สำหรับผู้ที่มีผิวหนังแห้ง ซึ่งสามารถทาได้ในทุกส่วนของร่างกาย ทั้งยังสามารถทาได้บ่อยตามความต้องการอีกด้วย

3. ข้าวโอ๊ต

ข้าวโอ๊ต มีสารอาวีนันทราไมต์ (Avenanthramide) เป็นสารในกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารต่อต้านการระคายเคือง ดังนั้นจึงอาจช่วยต้านการอักเสบ อาการบวมแดง รวมถึงบรรเทาอาการคันที่เกิดจากพิษต้นไม้ กลาก โรคอีสุกอีใส ถูกแดดเผา และอาการแพ้ โดยการนำข้าวโอ๊ตมาเข้าเครื่องบดหรือเข้าเครื่องปั่น ก่อนจะนำไปเทลงในอ่างอาบน้ำ จากนั้นลงไปนอนแช่น้ำเป็นเวลาอย่างน้อย 15-20 นาที

4. ว่านหางจระเข้

ว่านหางจระเข้มีสารโพลียูโรไนด์ (Polyuronide) และโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) ซึ่งบรรเทาอาการคันที่เกี่ยวกับผิวหนัง ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านการอักเสบ ทั้งยังเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวได้อีกด้วย

5. ประคบเย็น

การประคบเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการคันหรือแผลพุพอวที่เกิดขึ้นจากความร้อน แดดเผา แมลงสัตว์กัดต่อย พิษจากต้นไม้และโรคงูสวัด อีกทั้งยังช่วยลดอาการบวม ลดการอักเสบ แต่ไม่ควรนำน้ำแข็งวางลงบนผิวหนังโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวบริเวณที่ประคบแดงได้ ดังนั้น ให้นำน้ำแข็งใส่ในถุงพลาสติกปิดผนึก หรือนำถุงน้ำแข็งมาวางลงบนผิวบริเวณที่เกิดอาการคันเป็นเวลา 2-3 นาที

6. น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล

น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล (Apple Cider Vinegar) และไร้การปรุงแต่ง มีกรดอะซิติก (Acetic Acid) ที่ช่วยรักษาผิวหนังที่ติดเชื้อ รวมถึงช่วยรักษาผิวหนังที่เกิดการแพ้ซึ่งเป็นสาเหตุหรือเพิ่มระดับอาการคันให้รุนแรงขึ้นได้ ผู้ที่มีอาการแพ้อาจน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ลมาทาลงบนผิวหนังโดยตรง หรือจะนำไปเจือจางกับน้ำเปล่าก่อนจะนำมาทาก็ได้ แต่ถ้าผิวหนังเกิดการระคายเคือง ให้รีบหยุดใช้โดยทันที

7. ดอกคาโมมายล์

ดอกคาโมมายล์ช่วยบรรเทาอาการคัน ทำให้ผิวชุ่มชื้น ลดการอักเสบและช่วยให้ผิวหนังรักษาตัว อีกทั้งยังต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา และต้านเชื้อไวรัสได้อีกด้วย โดยการนำชาดอกคาโมมายล์มาเทลงใส่ผ้า และนำผ้ามาประคบลงบนผิวบริเวณที่เกิดอาการคัน ซึ่งสามารถทำได้ 2-3 ครั้ง/วัน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปเจือจางกับน้ำมันมะพร้าว 2 ช้อนโต๊ะ หรือน้ำมันกระสายยาชนิดอื่นก่อนนำมาใช้งานก็ได้

8. สะเดา

เนื่องจากมีสารลิโมนอยด์ (Limonoids) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ต้านการระคายเคือง ต้านเชื้อไวรัส ต้านเชื้อรา และต้านเชื้อแบคทีเรีย สะเดาจึงมีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับการบรรเทาโรคผิวหนังหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกลาก ผื่น สิว หิด โรคสะเก็ดเงิน และการติดเชื้อชนิดต่าง ๆ นอกจากนี้ สะเดายังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยไม่ให้เกิดริ้วรอย และเสริมสร้างการฟื้นฟูเซลล์ผิวอีกด้วย โดยสามารถใช้สารสกัดจากใบสะเดา น้ำมันสะเดา สบู่ ครีมทาผิว หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของสะเดา

9. ดอกดาวเรืองหม้อ

ดอกดาวเรืองหม้อ (Calendula) มีสารแคโรทีน (Carotene) อัลคาลอยด์ (Alkaloid) ซึ่งอาจช่วยต้านการอักเสบ ต้านเชื้อรา ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อไวรัส ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการผื่นขึ้น ผิวหนังระคายเคือง กลาก ผิวหนังแห้ง เป็นแผลและมีรอยฟกช้ำ โดยนำน้ำมันดอกดาวเรืองหม้อมาทาลงบนผิวบริเวณที่เกิดอาการคัน ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก่อนจะทาซ้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งจนกว่าอาการจะดีขึ้น นอกจากนั้นยังอาจนำน้ำมันดอกดาวเรืองหม้อเติมใส่ลงไปในอ่างอาบน้ำ และลงไปนอนแช่เป็นเวลา 15 นาที

10. น้ำมันมะกอก

น้ำมันมะกอก ประกอบด้วยวิตามินอีและสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารกรดโอเลอิก (Oleic Acid) กรดลิโนเลอิก (Linoleic Acid) ซึ่งช่วยในเรื่องการรักษาตัวของผิวและเสริมสร้างการสร้างผิวขึ้นใหม่ ทั้งยังเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และบรรเทาอาการคันได้ด้วย อาจนำน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้น หรือน้ำมันมะกอกมาผสมกับน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้ทาบนผิวหนังเพื่อบรรเทาอาการผิวหนังแห้ง แต่ควรใช้เพียงแค่ 2 ครั้ง/สัปดาห์เท่านั้น และไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป

[embed-health-tool-heart-rate]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Itch. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0140673603125706. Accessed  November 2, 2018

Dry Skin. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/dry-skin#1. Accessed  November 2, 2018

Why Do I Feel So Itchy?. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/guide/why-so-itchy. Accessed February 15, 2022

10 REASONS YOUR SKIN ITCHES UNCONTROLLABLY AND HOW TO GET RELIEF. https://www.aad.org/public/everyday-care/itchy-skin/itch-relief/relieve-uncontrollably-itchy-skin. Accessed February 15, 2022

Itchy skin. https://www.nhs.uk/conditions/itchy-skin/. Accessed February 15, 2022

Itching. https://medlineplus.gov/itching.html. Accessed February 15, 2022

Pruritus. https://dermnetnz.org/topics/pruritus. Accessed February 15, 2022

 

เวอร์ชันปัจจุบัน

14/06/2023

เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

คันตามตัว เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

สารระคายเคืองผิวหนัง ที่พบมากที่สุด


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย เธียรธัช มีโภคา · แก้ไขล่าสุด 14/06/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา