ซีเซียม-137 คือ สารกัมมันตรังสี นิยมใช้ภายในโรงงานเพื่อวัดค่าพลังงานไอน้ำ นอกจากนี้ ยังเป็นเครื่องมือแพทย์รักษามะเร็ง แต่หากมีการรั่วไหลออกมาจะเกิดเป็นอันตรายรุนแรงได้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส หากร่างกายสัมผัสกับสารชนิดนี้ในปริมาณมากจะส่งผลต่อเซลล์ ระบบเลือด รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
[embed-health-tool-bmi]
ซีเซียม-137 คืออะไร มีลักษณะอย่างไร
ซีเซียม-137 หรือ Caesium-137 เป็นโลหะอ่อนสีทองเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่มักจะจับตัวกับคลอไรด์กลายเป็นผงผลึก ปล่อยรังสีเบต้า และแกมม่า ส่วนใหญ่ใช้ภายในโรงงานเพื่อวัดพลังงานไอน้ำ พบได้ในอุปกรณ์วัดความชื้น เครื่องวัดอัตราการไหล เครื่องวัดความหนาของวัสดุ หรืออุปกรณ์ตรวจวัดชนิดอื่น ด้านการแพทย์ใช้ในด้านรังสีรักษาโรคมะเร็ง และยังมีประโยชน์ในการฉายรังสีอาหารอีกด้วย
ซีเซียม-137 อันตราย อย่างไร
หากสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 จะเป็นอันตรายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของรังสี ชนิดของรังสีที่ได้รับ กรณีสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อระบบเลือด กดไขกระดูก ระบบประสาท ชักเกร็ง และอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการสัมผัสและความเข้มข้นของซีเซียม 137 ซึ่งอาการทางผิวหนังจะมีตุ่มน้ำพอง เป็นแผล หรือเนื้อตาย จะเกิดกับผู้ที่สัมผัสโดยตรง ส่วนการส่งผลในระยะกลางและระยะยาว จะส่งผลต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างเซลล์เม็ดเลือดขาว อาจส่งผลต่อเส้นผมได้
วิธีสังเกตอาการที่พบหลังสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137
หากมีการสัมผัสกับสารซีเซียม 137 มักก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้
- เป็นไข้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เบื่ออาหาร
- ถ่ายเหลว
- ผิวหนังบริเวณที่โดนรังสีจะเกิดแผลไหม้พุพองได้
ข้อควรปฏิบัติและวิธีปฐมพยาบาลเมื่อสัมผัส ซีเซียม-137
สำหรับการปฏิบัติตนและวิธีปฐมพยาบาล หากอยู่ใกล้กับพื้นที่อันตรายที่พบการปนเปื้อน หรือได้สัมผัสโดยตรงกับ
- ลดการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ด้วยการล้างมือ ล้างตาให้น้ำไหลผ่านจากหัวตาไปทางหางตา หากเป็นไปได้ให้อาบน้ำชำระล้างร่างกายจนสะอาด สระผมให้ทั่ว เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดใหม่ที่สะอาดปราศจากสารปนเปื้อน
- ลงทะเบียนยังหน่วยงานที่กำหนด ให้มีการจัดทำทะเบียนผู้สัมผัสหรืออยู่ในเหตุการณ์เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพและควบคุมการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี
- ห้ามหยิบจับวัตถุทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ห้ามนำมือสัมผัสบริเวณภายในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่อันตราย
การปฏิบัติตนเพื่อป้องกันอันตรายจากการสัมผัส ซีเซียม-137
เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการสัมผัส ซีเซียม-137 ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หรือกล่องเหล็กต้องสงสัย
- ถ้าอยู่ในที่เกิดเหตุซีเซียม-137 ปนเปื้อน ให้ไปลงทะเบียนผู้สัมผัสสารกัมมันตรังสียังหน่วยงานที่กำหนด
- รวบรวมสิ่งของหรือเสื้อผ้าที่คาดว่าอาจมีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ
นอกจากนั้น การล้างมือเป็นประจำ โดยล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม หรือหลังเข้าห้องน้ำ นอกจากจะช่วยป้องกันเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 แล้วยังช่วยป้องกันโรคอื่น ๆ ได้ด้วย สำหรับประชาชนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ต้องระวัง ควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามประกาศอย่างเคร่งครัด พร้อมสังเกตสุขภาพร่างกายของตัวเอง หากพบว่ามีอาการที่เป็นสัญญาณเตือนภัยสุขภาพ ให้รีบติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขประจำเขตที่อยู่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี โทร 037-211626 ต่อ 102 และเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน