HCG (Human Chorionic Gonadotropin Gonadotropin Hormone) คือ ฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่ใช้เป็นตัวบ่งชี้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ผลิตขึ้นจากเซลล์รกของทารก ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในเลือดและปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ ฮอร์โมน HCG นอกจากจะสามารถบอกการตั้งครรภ์ได้แล้ว ยังอาจสามารถใช้เพื่อตรวจดูสุขภาพของทารกในครรภ์ได้อีกด้วย การทำความเข้าใจเกี่ยวกับฮอร์โมน HCG อาจช่วยให้สามารถเฝ้าระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นช่วงตั้งครรภ์ได้
[embed-health-tool-ovulation]
HCG คืออะไร
HCG เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากเซลล์ของรก อาจตรวจพบในปัสสาวะหรือเลือดภายใน 1 สัปดาห์ของเพศหญิง หลังจากที่ไข่กับอสุจิได้มีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน และระดับฮอร์โมนมักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปกติแล้ว ฮฮอร์โมนการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุก ๆ 72 ชั่วโมง ระดับจะเพิ่มขึ้นในปริมาณที่มากในช่วง 8-11 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นระดับจะค่อย ๆ คงที่หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
วิธีการตรวจหาค่าฮอร์โมนการตั้งครรภ์
การตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์สามารถตรวจได้ด้วยวิธีดังนี้
- การตรวจเลือด โดยเก็บตัวอย่างเลือดและนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งระดับของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในเลือดมักถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์
- การตรวจปัสสาวะ เป็นการทดสอบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ สามารถหาซื้อที่ตรวจวัดฮอร์โมนการตั้งครรภ์หรือที่ตรวจครรภ์ได้จากร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อ สามารถทำตามขั้นตอนที่อยู่ข้างผลิตภัณฑ์
การทดสอบฮอร์โมนการตั้งครรภ์วัดอะไรบ้าง
การทดสอบฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ได้แก่
- การทดสอบฮอร์โมนการตั้งครรภ์วัดเชิงคุณภาพ เป็นการตรวจหาว่าตั้งครรภ์หรือไม่ อาจตรวจได้ภายใน 10 วันหลังจากมีการปฏิสนธิ
- การทดสอบฮอร์โมนการตั้งครรภ์วัดเชิงปริมาณ โดยจะวัดปริมาณฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในเลือด เพื่อดูระดับของฮอร์โมนว่าสูงหรือต่ำกว่าปกติหรือไม่ ทั้งนี้ ยังอาจช่วยให้คุณหมอทราบและวินิจฉัยได้ว่ามีปัญหาใด ๆ ระหว่างการตั้งครรภ์หรือไม่
ระดับค่าฮอร์โมนการตั้งครรภ์เป็นอย่างไร
ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่น้อยกว่า 5 mIU/mL ถือเป็นผลลบซึ่งอาจหมายความว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ และหากระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์สูงกว่า 25 mIU/mL ถือเป็นผลบวกที่อาจหมายถึงการตั้งครรภ์
ระดับค่าเฉลี่ยฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในเลือดของสตรีตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้
- 3 สัปดาห์: 6-70 mIU/ml
- 4 สัปดาห์: 10-750 mIU/ml
- 5 สัปดาห์: 200-7,100 mIU/ml
- 6 สัปดาห์: 160-32,000 mIU/ml
- 7 สัปดาห์: 3,700-160,000 mIU/ml
- 8 สัปดาห์: 32,000-150,000 mIU/ml
- 9 สัปดาห์: 64,000-150,000 mIU/ml
- 10 สัปดาห์: 47,000-190,000 mIU/ml
- 12 สัปดาห์: 28,000-210,000 mIU/ml
- 14 สัปดาห์: 14,000-63,000 mIU/ml
- 15 สัปดาห์: 12,000-71,000 mIU/ml
- 16 สัปดาห์: 9,000-56,000 mIU/ml
- 16-29 สัปดาห์: 1,400-53,000 mIU/ml
- 29-41 สัปดาห์: 940-60,000 mIU/ml
นอกจากนี้ ปริมาณฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในเลือดยังอาจสามารถให้ข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และสุขภาพของลูกน้อยได้ เช่น
- ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์ลดลง อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูก และควรตรวจสอบอีกครั้งภายใน 48-72 ชั่วโมงเพื่อดูว่าระดับมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
- ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- ระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์สูงกว่าที่คาดการณ์ อาจหมายถึงตั้งครรภ์แฝด การเจริญเติบโตผิดปกติในมดลูก ซึ่งปัจจัยนี้คุณหมออาจมีการตรวจอัลตราซาวด์เพิ่มเติม ทั้งนี้ ควรตรวจสอบอีกครั้งภายใน 48-72 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม หากผลตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์เป็นลบ อาจเป็นเพราะดื่มน้ำในปริมาณมาก ทำให้ปัสสาวะเจือจาง ส่งผลให้ตรวจไม่พบ หรืออาจตรวจเร็วเกินไป ดังนั้น หากไม่แน่ใจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ควรซื้อที่ตรวจครรภ์เพื่อตรวจซ้ำ
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนการตั้งครรภ์
ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์สำหรับผู้ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งอัณฑะ รวมถึงการรับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน เมทาโดน (Methadone) คาร์บามาซีพีน (Carbamazepine) ซึ่งอาจทำให้ตรวจพบฮอร์โมนการตั้งครรภ์ในปัสสาวะหรือเลือดได้เช่นกัน