backup og meta

คลอดธรรมชาติ ข้อดี ข้อเสียสำหรับคุณแม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    คลอดธรรมชาติ ข้อดี ข้อเสียสำหรับคุณแม่

    คลอดธรรมชาติ เป็นวิธีการคลอดบุตรที่เกิดขึ้นมานานหลายศตวรรษก่อนจะมีเทคนิคทางการแพทย์ หรือโรงพยาบาลเข้ามาครอบคลุมคอยอำนวยความสะดวก ปัจจุบัน การคลอดลูกธรรมชาติยังคงเป็นตัวเลือกแรกที่คุณแม่หลายคนนิยมเลือก จนกว่าคุณหมอจะพิจารณาว่า คุณแม่และทารกใช้ระเวลานานเกินไป เพราะถึงช่วงเวลาที่พร้อมคลอด แต่ทารกไม่สามารถคลอดออกมาได้ หรืออาจมีข้อบ่งชื้อื่นที่ไม่สามารถคลอดทางช่องคลอดได้ เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ ภาวะรกไม่กลับหัว จนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณแม่และทารกสถานการณ์ดังกล่าวนี้ คุณหมอจำเป็นต้องให้คุณแม่เข้ารับการผ่าตัดคลอดแทน

    คลอดธรรมชาติ คืออะไร

    คลอดธรรมชาติ คือ การคลอดบุตรทางช่องคลอด อาจมีการใช้ยาเร่งคลอดร่วมด้วยกรณีที่มดลูกยังหดรัดตัวไม่ดี มีการใช้วิธีการควบคุมหายใจ เพื่อเพิ่มแรงในการเบ่งทารกออกจากท้องผ่านช่องคลอด การคลอดทารกแบบธรรมชาติอาจใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวะสุขภาพของคุณแม่ การคลอดธรรมชาติทำให้เกิดอาการเจ็บท้องคล้ายกับอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรงร่วมด้วย

    ข้อมูลจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีอัตราการผ่าคลอดสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้อัตราการผ่าคลอดไม่ควรเกิน ร้อยละ 15 โดยพิจารณาจากสถานการณ์ที่ไม่พร้อมคลอดธรรมชาติหรือมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด เช่น ภาวะรกต่ำ คุณแม่ตั้งครรภ์ติดเชื้อเริม ติดเชื้อเอชไอวี ทารกไม่กลับตัวนำศีรษะลงมาบริเวณช่องคลอด ภาวะคลอดล่าช้า 

    ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ

    ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ มีดังนี้

    • การคลอดธรรมชาติเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีของคุณแม่ เนื่องจากความเจ็บปวดนี้เมื่อผ่านมาได้อาจเสริมสร้างพลังงานและร่างกายให้แข็งแรงขึ้น พร้อมจะดูแลทารกหลังคลอดได้เป็นอย่างดี
    • การคลอดธรรมชาติมักเผชิญกับการหดรัดตัวของมดลูกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ขณะเดียวกันก็อาจช่วยกระตุ้นกระบวนการหายใจให้ทารกได้ดีกว่าการผ่าคลอด
    • การผ่าคลอดอาจจำเป็นต้องใช้ยาบรรเทาอาการปวดหรือยาชา ซึ่งส่งผลกระทบข้างเคียงต่อคุณแม่ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อาการง่วงซึม วิงเวียนศีรษะ หมดสติ

    นอกจากนี้สตรีตั้งครรภ์ควรคลอดบุตรแบบธรรมชาติแทนการเลือกวิธีผ่าคลอด  เพราะหลังคลอดคุณแม่จะสามารถอุ้มลูกได้ตั้งแต่นาทีแรก อีกทั้งช่วงเวลาหลังคลอดภายในครึ่งชั่วโมงแรกควรรีบให้ทารกดูดนมจากเต้า เพราะการดูดนมของลูกจะช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งจะส่งผลให้น้ำนมหลั่งออกมามากขึ้น และหลังจากนั้นก็จะมีการฟื้นตัวที่รวดเร็วกว่าการผ่าคลอด

    ข้อเสียของการคลอดธรรมชาติ

    การคลอดธรรมชาติส่วนใหญ่ให้ความปลอดภัยต่อสุขภาพของคุณแม่และทารก แต่อาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดมากเป็นเวลานานจนกว่าจะคลอดทารก เนื่องจากไม่ได้มรีการระงับความรู้สึกทั้งหมด เพราะต้องใช้แรงเบ่งจากคุณแม่ในการเบ่งคลอด 

    การเตรียมตัวก่อนการคลอด

    1. ปรึกษาคุณหมอ และแจ้งให้คุณหมอทราบความต้องการคลอดลูกแบบธรรมชาติ เพื่อให้คุณหมอตรวจเช็กสุขภาพเบื้องต้นและร่วมวางแผนการคลอดอย่างปลอดภัย รวมทั้งประเมินว่ามีข้อห้ามในการคลอดทางช่องคลอดหรือไม่
    2. หาผู้ดูแลมาอยู่ข้าง ๆ เช่น คนในครอบครัว เพื่อให้กำลังใจขณะที่คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดเมื่อใกล้คลอด
    3.  ฝึกการหายใจลึก ๆ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดเมื่อใกล้ถึงเวลาคลอด เนื่องจากคุณแม่ต้องรอให้ปากช่องคลอดขยายใหญ่พอที่จะคลอดลูก ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดนานหลายชั่วโมง
    4. ผ่อนคลายจิตใจ โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรกอาจไม่ค่อยชินกับอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง ดังนั้นคุณแม่จึงควรเตรียมใจและเพิ่มความผ่อนคลายด้วยการทำสมาธิ ฟังเพลง เดิน อาบน้ำ นวดตัว

    อาการของคุณแม่หลังคลอดแบบธรรมชาติ

    อาการของคุณแม่หลังคลอดที่พบบ่อย มีดังนี้

    • ตัวสั่น เป็นปฏิกิริยาธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอด เนื่องจากสูญเสียพลังงาน หมดแรง และอ่อนเพลีย ซึ่งควรพักผ่อนให้มาก ๆ หลังคลอด
    • เจ็บท้อง มดลูกของคุณแม่อาจมีอาการเกร็ง รู้สึกเจ็บปวด และรู้สึกไม่สบายรอบ ๆ ช่องคลอด โดยเฉพาะเมื่อต้องลุกขึ้นนั่งเพื่อให้นมลูก
    • มีความสุข ถึงจะมีอาการเจ็บปวดแต่ก็อาจทำให้คุณแม่มีความสุขที่การคลอดผ่านไปด้วยดี ทารกปลอดภัย สุขภาพแข็งแรง และได้อยู่ใกล้ชิดกับลูก

    หากคุณแม่มีอาการผิดปกติ เช่น หนาวสั่น มีไข้สูงกว่า 38 องศา วิงเวียนศีรษะ เป็นลม ปวดขา มีผื่นแดง อาเจียน ใจสั่น ปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอดเต็มผ้าอนามัย 1 แผ่นต่อชั่วโมง หรือมีตกขาวมีกลิ่นเหม็น ควรเข้าตรวจร่างกายโดยคุณหมอทันที

    การดูแลสุขภาพหลังคลอด

    ร่างกายของคุณแม่ใช้เวลาพักฟื้น ประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังจากคลอดทารก เพื่อให้แผลบริเวณช่องคลอดสมานและกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนการตั้งครรภ์ วิธีดูแลสุขภาพคุณแม่หลังคลอด มีดังนี้

    • ประคบเย็นบริเวณช่องคลอด หากคุณแม่รู้สึกเจ็บช่องคลอดจากแผลที่ยังไม่หายดี อาจใช้วิธีการประคบเย็น เพื่อบรรเทาอาการปวดและบวม หลีกเลี่ยงการนั่งบนพื้นผิวแข็ง หรือหากจำเป็นควรนำหมอนมารองก่อนนั่ง 
    • ทำความสะอาดแผลคลอด หลังจากเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว คุณแม่ควรทำความสะอาดด้วยการใช้น้ำอุ่นล่าง หรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดบริเวณแผลจากด้านหน้าไปด้านหลัง และเช็ดซับให้แห้งเสมอ เพื่อบรรเทาอาการปวดและป้องกันการติดเชื้อ
    • บรรเทาอาการปวดท้อง อาการปวดท้องเกร็งอาจเกิดขึ้นจากมดลูกหดตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวด แต่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการนำถุงน้ำร้อนมาวางไว้บนหน้าท้องหรือรับประทานยาแก้ปวดที่คุณหมอหรือเภสัชกรแนะนำ
    • ใส่ผ้าอนามัยป้องกันเลือดออกทางช่องคลอด เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่อาจพบเจอกับเลือดไหลหรือตกขาวที่ออกจากช่องคลอดในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด  เนื่องจาก ร่างกายกำลังกำจัดเนื้อเยื่อและเลือดภายในมดลูกของทารกที่อยู่ในช่วงการตั้งครรภ์ โดยเลือดจะไหลมากที่สุดในช่วง 10 วันแรก ก่อนจะบรรเทาลงหรือหยุดไหลเองภายใน 6 สัปดาห์ ระหว่างนี้คุณแม่ควรใส่ผ้าอนามัย เพื่อป้องกันเลือดที่ไหลออก
    • บรรเทาอาการเจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกเป็นอาการที่เกิดจากเต้านมขยาย คัดเต้า ซึ่งเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์แลช่วงให้นมบุตร เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่ผลิตน้ำนมเตรียมให้ทารกหลังคลอด โดยคุณแม่อาจเปลี่ยนเสื้อชั้นในให้มีขนาดที่พอดีหรือใหญ่กว่าเต้านม เพื่อให้สวมใส่ได้สบายไม่กดทับหน้าอก และบีบเก็บน้ำนมตามเวลาที่เหมาะสม
    • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีใยอาหาร และดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อบรรเทาอาการท้องผูกที่เป็นผลข้างเคียงจากยาแก้ปวดที่ได้รับก่อนการคลอด อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากมนมที่มีกลูเตน (Gluten) อาหารที่มีไขมัน และสารให้ความหวานเทียม เพราะอาจทำให้คุณแม่มีอาการท้องเสียได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 14/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา