backup og meta

ท้องลูกแฝด กับการทำน้ำหนักตัวของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์

ท้องลูกแฝด กับการทำน้ำหนักตัวของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์

ท้องลูกแฝด เป็นภาวะการตั้งครรภ์ที่มีทารกอยู่ในท้องมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป ซึ่งมีรายละเอียดและข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ลูกแฝดที่ต้องศึกษามากกว่าการท้องปกติ เนื่องจากภาวะการเปลี่ยนแปลงทั้งของฮอร์โมนต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่าปกติด้วย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คุณแม่ควรต้องศึกษาข้อมูลเอาไว้เพื่อการดูแลตัวเองและทารกฝาแฝดที่อยู่ในครรภ์ให้มีสุขภาพแข็งแรงและปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น

ทำไมน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นถึงมีความสำคัญ

การกินอาการที่เหมาะสมและมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์นั้น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของการตั้งครรภ์ แต่จะยิ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษเมื่อท้องลูกแฝด เนื่องจากมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ จึงเป็นข้อควรระวังของว่าที่คุณแม่ฝาแฝดมือใหม่ทุกคน

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะมีความสำคัญเป็นพิเศษ ในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ถึง 24 ของการตั้งครรภ์ ถ้าคุณแม่ที่ท้องลูกแฝด มีน้ำหนักขึ้นประมาณ 10 กิโลกรัมภายในสัปดาห์ที่ 24 ของการตั้งครรภ์ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดลงได้ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นแต่เนิ่นๆ นั้น มีความสำคัญต่อพัฒนาการของทารกแฝดด้วย เพราะนั่นหมายถึงว่าการลำเลียงสารอาหารไปให้ลูกแฝดนั้นดีขึ้น

คุณแม่ท้องลูกแฝดควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน

หญิงท้องลูกแฝดควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับความสูง รูปร่าง และน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ของคุณแม่ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 10 ถึง 20 กิโลกรัม

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์แฝดสาม ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 22 ถึง 27 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นแฝดสี่ หรือแฝดห้า นั้นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ควรจะมีน้ำหนักเพิ่มเท่าใด ฉะนั้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดจึงควรปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามสถานพยาบาลต่างๆ 

ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วขนาดไหน

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ลูกแฝด ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแค่ 2 ถึง 3 กิโลกรัมในช่วงไตรมาสแรก และสัปดาห์ละประมาณครึ่งกิโลกรัม ในช่วงไตรมาสที่สองและที่สาม หากตั้งครรภ์แฝดสาม ก็ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมไปตลอดการตั้งครรภ์ แต่ด้วยความที่มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างหลากหลาย หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามสถานพยาบาลต่างๆ ถึงแนวทางในการเพิ่มน้ำหนักอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และทารกฝาแฝด 

การจัดการกับน้ำหนักเมื่อ ท้องลูกแฝด

การที่คุณหมอแนะนำให้คุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 16 กิโลกรัม หมายความว่า การตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้นใช้เวลารวมทั้งหมด 37 สัปดาห์ ฉะนั้น คุณแม่จึงควรเพิ่มน้ำหนักให้ได้สัปดาห์ละประมาณครึ่งกิโลกรัม แต่โดยปกติแล้วน้ำหนักจะไม่ได้เพิ่มขึ้นง่ายๆ เท่าใด เนื่องจากการตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้น จะมีอุปสรรคในการเพิ่มน้ำหนักแตกต่างกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

น้ำหนักตัวไตรมาสแรก 

อุปสรรคแรกของการเพิ่มน้ำหนักในช่วงเวลานี้ ก็คือ อาการคลื่นไส้ เนื่องจากคุณแม่มักมีระดับฮอร์โมนต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า โดยปกติคุณแม่ที่ท้องลูกคนเดียวมักมีอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวเป็นปกติอยู่แล้ว ดังนั้น หากคุณแม่ท่านใดตั้งครรภ์ลูกแฝด ก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะยิ่งมีอาการผะอืดผะอมในตอนเช้าๆ มากกว่า (และมีแนวโน้มว่าจะเกิดอาการเช่นนี้ไปตลอดทั้งวันด้วย

แต่การกินอาหารในปริมาณน้อยลง จะช่วยให้คุณแม่บางคนมีอาการดีขึ้นได้ ซึ่งถ้าหากคุณแม่ท่านใดกินอาหารปริมาณน้อยลงแล้วรู้สึกดีขึ้น อาจแค่เลือกกินเฉพาะอาหารเมนูที่รู้สึกอยากกิน ซึ่งจะช่วยให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมไปตลอดการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรก

แต่หากการรับประทานอาหารปริมาณน้อยไม่ช่วยให้รู้สึกอาการคลื่นไส้บรรเทาลง อาจต้องกินอาหารที่หลากหลายขึ้นและไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป เพราะอย่างไรเสีย อาการคลื่นไส้นั้นมักมีแนวโน้มดีขึ้นในช่วยไตรมาสท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้ คุณแม่ต้องไม่ละเลยการกินวิตามินบำรุงครรภ์เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ แต่หากวิตามินนั้นทำให้เกิดอาการแพ้ท้อง  ควรปรึกษาแพทย์

น้ำหนักตัวไตรมาสที่สอง

อาการคลื่นไส้อาจจะหายไปในช่วงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ (แต่กับคุณแม่บางคนก็อาจหายไปในช่วงสัปดาห์ที่ 16 หรือแม้แต่สัปดาห์ที่ 20 ก็ได้) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คุณแม่มีโอกาสกินอาหารมากขึ้นเพื่อเพิ่มสารอาหารให้ลูกน้อยเจริญเติบโตและมีพัฒนาการตามช่วงวัย

ถ้าน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก (หรือถ้าน้ำหนักลดลงจากอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน) คุณหมออาจให้คุณแม่พยายามเพิ่มน้ำหนักให้ได้สัปดาห์ละครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมในช่วงไตรมาสนี้ แต่ถ้าคุณแม่ท่านใดมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสแรก อาจตั้งเป้าให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมในช่วงไตรมาสนี้ก็เพียงพอแล้ว

ถ้าคุณแม่ท่านใดต้องการจะทำน้ำหนักให้ได้เร็วขึ้น อาจต้องเลือกกินอาหารประเภทโปรตีน แคลเซียม หรือธัญพืชต่างๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจดื่มนมสดครบส่วน (ที่มีส่วนผสมของนมผงที่ช่วยเพิ่มปริมาณแคลเซียม) เนยแข็งคอตเทจ เนื้อวัว และไก่งวง ก็นับเป็นทางเลือกที่ดีในการเพิ่มสารอาหารให้กับร่างกาย

น้ำหนักตัวไตรมาสที่สาม

เป้าหมายของคุณแม่ในไตรมาสนี้คือ การเพิ่มน้ำหนักให้ได้สัปดาห์ละครึ่งถึงหนึ่งกิโลกรัมต่อไปตลอดเดือนที่เจ็ดของการตั้งครรภ์ เมื่อถึงสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์ ลูกแฝดอาจมีน้ำหนักตัวคนละเกือบสองกิโลกรัม (ซึ่งเฉพาะน้ำหนักตัวของลูกน้อยเมื่อรวมกันก็เกือบเท่ากับ 4 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นน้ำหนักที่ค่อนข้างมากสำหรับคุณแม่) จึงอาจทำให้ไม่เหลือที่ว่างสำหรับการรับประทานอาหารเข้าไปนั่นเอง 

ด้วยเหตุนั้นเอง จึงเป็นที่มาของปัญหาคุณแม่ท้องลูกแฝดที่เกิดภาวะกรดไหลย้อน หรือมีปัญหากับการย่อยอาหารในช่วงท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรวางแผนการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งวันกำหนดคลอด เนื่องจากตอนนี้ทารกในครรภ์กำลังมีพัฒนาการทางร่างกายและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบสมบูรณ์แล้ว จึงยิ่งต้องการอาหารที่มีความสมดุลและมีประโยชน์สูงทางโภชนาการ ฉะนั้นในเดือนที่แปดที่เก้าของการตั้งครรภ์นี้ คุณแม่อาจต้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัมเป็นอย่างน้อย

[embed-health-tool-due-date]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Weight Gain With Twin Pregnancy. https://www.verywellfamily.com/twin-pregnancy-weight-gain-2447480. Accessed November 18, 2021.

Weight Gain With Multiples. http://americanpregnancy.org/multiples/weight-gain-with-multiples/. Accessed November 18, 2021.

Managing Your Weight Gain With Multiples. https://www.whattoexpect.com/pregnancy/twins-and-multiples/carrying-more-than-one/managing-your-weight.aspx. Accessed November 18, 2021.

Gain Weight Safely During Your Pregnancy. https://www.webmd.com/baby/guide/healthy-weight-gain#1. Accessed November 18, 2021.

Twin pregnancy: What twins or multiples mean for mom. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/in-depth/twin-pregnancy/art-20048161. Accessed November 18, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/11/2021

เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัจจัยที่ทำให้มีลูกแฝด มีอะไรบ้าง

ตั้งครรภ์ลูกแฝด คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างไรให้แข็งแรงปลอดภัยทุกคน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 18/11/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา