ตั้งครรภ์ลูกแฝด คือการที่คุณแม่มีทารกอยู่ในท้องมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งทำให้วิธีการดูแลครรภ์และดูแลตนเองนั้นอาจแตกต่างจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกคนเดียวอยู่บ้าง รวมถึงอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับสุขภาพเป็นพิเศษ ทั้งด้วยน้ำหนักตัวที่มากกว่าการตั้งครรภ์โดยทั่วไป การเลือกรับประทานอาหารที่ต้องครบถ้วนและหลากหลาย อย่างไรก็ตาม มีเคล็ดลับดี ๆ อยู่มากมายที่จะสามารถช่วยให้คุณแม่รับมือการตั้งครรภ์ลูกแฝดได้อย่างสบายใจมากขึ้น
[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]
การดูแลสุขภาพคุณแม่ ตั้งครรภ์ลูกแฝด
สิ่งสำคัญที่สุดของการตั้งครรภ์ลูกแฝดคือการดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรงและปลอดภัย รวมทั้งการมีสุขภาพจิตที่ดีปลอดโปร่ง มีความกังวลน้อยที่สุด ซึ่งสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ ได้แก่
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเพียงพอ
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคนควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในทุกมื้อ และดูแลให้มีความหลากหลาย ได้รับสารอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วน เนื่องจากความต้องการสารอาหารจะเปลี่ยนไปตามแต่ละไตรมาสทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอรับคำแนะนำเรื่องโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์
-
รับมือกับอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว
เมื่อตั้งครรภ์ลูกแฝด มดลูกจะขยายตัวขึ้นเป็นสองเท่า รวมถึงท้องจะใหญ่ขึ้นตามการเจริญเตบโตของทารกด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดหลัง ปวดหน่วงท้องน้อยที่มากขึ้น ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเริ่มรู้สึกได้ตั้งสัปดาห์ที่ 25 ของการตั้งครรภ์ รวมทั้งอาการเป็นตะคริว หรือตกขาว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติตัว
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำและไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง
ตั้งครรภ์ลูกแฝดมักจะทำให้มีความเสี่ยงเกี่ยวกับภาวะสุขภาพเพิ่มขึ้น คุณหมออาจนัดตรวจถี่และละเอียดกว่าการตั้งครรภ์โดยทั่วไป ทั้งเพื่อตรวจดูว่าเป็นแฝดสอง แฝดสาม หรือมากกว่าแฝดสี่คนขึ้นไป โดยเฉพาะหลังสัปดาห์ที่ 30 ของการตั้งครรภ์ คุณหมอก็อาจนัดไปตรวจอัลตร้าซาวด์สัปดาห์ละครั้ง เพื่อตรวจดูน้ำคร่ำว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม และตรวจสอบทารกว่ามีอัตราการเจริญเติบโตเป็นปกติ หากพบภาวะเสี่ยงใด ๆ จะได้รักษาหรือป้องกันได้ทัน
-
หาแรงสนับสนุนได้ใกล้ตัว
งานศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal Pediatiric พบว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกแฝดนั้น มักมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดมากกว่าคุณแม่ลูกคนเดียวถึง 43 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้คุณแม่หลายคนที่มีลูกแฝด อาจเคยผ่านการแท้งบุตร และการรักษาภาวะมีบุตรยากมาแล้วซึ่งจะยิ่งทำให้มีความเครียดมากกว่าปกติ หากรู้สึกเครียดควรขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อน ๆ หรือแม้แต่จ้างพี่เลี้ยงเด็กมาช่วยงานเลี้ยงดูลูก เพื่อหาเวลาพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ
-
เตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ
อายุครรภ์ลูกแฝดมักอยู่ที่ 37 สัปดาห์ แต่อาจมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝดควรเตรียมพร้อมกับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ลูกแฝดหลายคน ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะคลอดก่อนกำหนดหลายสัปดาห์
-
วางแผนการคลอดกับคุณหมอ
ก่อนคลอด คุณแม่อาจสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการคลอด วิธีการคลอดที่เหมาะสม ทั้งนี้ คุณหมอจะเป็นผู้วินิจฉัยและแจ้งให้คุณแม่ทราบก่อนคลอด รวมทั้งการขอข้อมูลเกี่ยวกับหอผู้ป่วยเด็กวิกฤติ ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ลูกแฝดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องอภิบาลเด็กแรกเกิด จะได้มีข้อมูลและทำความเข้าใจถึงกระบวนการรักษาตัว และรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้
-
มองโลกในแง่ดี
การมองโลกในแง่ดีในขณะตั้งครรภ์ลูกแฝด จะช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดี และช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตในครรภ์ได้อย่างมีสุขภาพดี พร้อมทั้งอย่าลืมจับตาดูสัญญาณเตือนจากลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมด้วย เช่น การนับลูกดิ้น การเคลื่อนไหวหรือขยับตัวของลูก
แม้คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝดจะเตรียมตัวและปฏิบัติตามเคล็ดลับที่กล่าวมาแล้ว แต่วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลตัวเองหากตั้งครรภ์ลูกแฝดคือการขอเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรง รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเตรียมตัวให้ดีที่สุด เมื่อวันที่ลูกน้อยคลอดออกมาจะได้มีทุกอย่างพร้อมมากที่สุด ไม่ต้องกังวลใจและมีความสุขกับช่วงเวลาที่มีความหมายได้อย่างเต็มที่