backup og meta

ผู้หญิงตั้งครรภ์ขึ้นเครื่องบิน ควรดูแลตัวเองอย่างไร

ผู้หญิงตั้งครรภ์ขึ้นเครื่องบิน ควรดูแลตัวเองอย่างไร

โดยทั่วไปหญิงตั้งครรภ์ที่สุขภาพดีและไม่มีภาวะแทรกซ้อน ที่ต้องดูแลติดตามอย่างใกล้ชิดสามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้ตามปกติ รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวโดยเครื่องบิน โดยปกติแล้ว ผู้หญิงตั้งครรภ์สามารถเดินทางในระยะสั้น เช่น การเดินทางในประเทศ ได้ สำหรับการเดินทางไกลข้ามประเทศนั้น ผู้หญิงตั้งครรภ์ขึ้นเครื่องบิน ได้หากอายุครรภ์ไม่เกิน 36 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นอายุครรภ์ที่ใกล้ครบกำหนดและอาจเสี่ยงต่อการคลอดบนเครื่องบินได้ ทั้งนี้อาจต้องเตรียมตัวเอง และสิ่งอื่น ๆ ให้พร้อม เช่น ใบรับรองแพทย์ที่อนุญาตให้บิน

[embed-health-tool-pregnancy-weight-gain]

สิ่งที่ ผู้หญิงตั้งครรภ์ขึ้นเครื่องบิน ควรรู้

โดยทั่วไป ก่อนที่ผู้หญิงตั้งครรภ์จะเดินทางหรือขึ้นเครื่องบิน สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ตรวจสอบกฎของสายการบินในเรื่องของอายุครรภ์ที่อนุญาตให้ขึ้นเครื่องบินได้ ซึ่งปกติแล้วจะอนุญาตให้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ไม่เกิน 36 สัปดาห์ หรือบางสายการบินก็อาจกำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 27 สัปดาห์ ขณะที่บางสายการบิน เช่น Air France Delta Airline หรือ Egypt Air ไม่กำหนดอายุครรภ์ที่สามารถทำการบินได้ นอกจากนี้ บางสายการบินอาจต้องการใบรับรองแพทย์ที่อนุญาตให้บินได้ด้วย เพราะฉะนั้นก่อนจะจองการเดินทาง ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรตรวจสอบนโยบายเรื่องนี้กับสายการบินที่จะทำการเดินทางก่อน

อีกสิ่งที่ควรใส่ใจ คือ ประกันสุขภาพในระหว่างการเดินทาง ซึ่งจำเป็นต้องอย่างยิ่ง เพื่อประกันการช่วยเหลือทางการแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน และการเคลื่อนย้ายกลับมารักษาต่อที่ประเทศของตัวเอง อาจต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ประกันสุขภาพในระหว่างเดินทางครอบคลุมหรือไม่ครอบคลุมอะไรบ้าง ในกรณีของผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ และมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว ควรตรวจสอบความคุ้มครองที่ใช้ได้ในกรณีที่เดินทางไปต่างประเทศ

หลังจากนั้น ควรปรึกษาคุณหมอที่ดูแลครรภ์ เพื่อรับคำแนะนำต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ อย่างเช่น

  • การใช้ถุงน่องแบบซัพพอร์ตที่ช่วยให้เลือดไหลเวียน เพื่อป้องกันอาการหลอดเลือดอุดตันที่ขา ปรึกษาคุณหมอก่อนว่าควรต้องใช้หรือไม่
  • วิธีแก้ไขในกรณีเกิดคลื่นไส้อาเจียนในระหว่างการเดินทาง เนื่องจากอาการเมาเครื่องบิน
  • วิธีแก้ไขในกรณีที่เกิดท้องอืดหรือท้องเสีย ความกดอากาศซึ่งเพิ่มขึ้นในที่สูง อาจทำให้เกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารและทำให้รู้สึกอึดอัดไม่สบายท้องได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารก่อนเดินทาง ส่วนอาการท้องเสียอาจเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรียในเครื่องบิน ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอถึงวิธีการแก้ไขหรือบรรเทาอาการไว้ก่อนล่วงหน้า และควรรับประทานยาเฉพาะตามแพทย์สั่ง
  • การฉีดวัคซีนที่จำเป็นสำหรับจุดหมายปลายทางที่เดินทางไป หรือการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามรอบประจำปี

สำหรับที่สนามบิน ผู้หญิงตั้งครรภ์บางคนอาจเป็นห่วงเรื่องการผ่านเครื่องเอกซเรย์ และเครื่องตรวจจับโลหะที่สนามบิน ว่าจะปลอดภัยสำหรับทารกในครรภ์หรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว เครื่องเอกซเรย์และเครื่องตรวจจับโลหะที่สนามบินถือว่าปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป รวมถึงผู้หญิงตั้งครรภ์ด้วย แต่หากกังวลเรื่องนี้อาจแจ้งให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ตรวจร่างกายแทนการเดินผ่านเครื่อง

ในระหว่างการเดินทางเมื่อ ผู้หญิงตั้งครรภ์ขึ้นเครื่องบิน

เคล็ดลับในระหว่างการเดินทาง

เคล็ดลับต่อไปนี้อาจช่วยให้การเดินทางของผู้หญิงตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย

  • รัดเข็มขัด บนเครื่องบินให้คาดเข็มขัดนิรภัย โดยรัดไว้ใต้ท้อง บริเวณกระดูกสะโพก
  • ดื่มน้ำ ควรจิบน้ำตลอดเวลาเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจทำให้เลือดไหลเวียนไปยังมดลูกน้อยลงได้
  • ยืดเส้นยืดสาย คุณหมออาจแนะนำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ลุกเดินทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ส่วนการนั่งอยู่กับที่นั่ง ให้งอและยืดข้อเท้าเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด
  • เลือกที่นั่งริมทางเดิน เป็นที่นั่งที่เหมาะที่สุดสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจช่วยให้ง่ายต่อการเดินไปเข้าห้องน้ำ ที่นั่งแถวแรกสุดของเครื่องบินแต่ละช่วง ก็อาจเป็นที่นั่งซึ่งมีพื้นที่กว้างและนั่งสบายกว่าส่วนอื่น แต่ที่นั่งบริเวณปีกจะเป็นที่นั่งซึ่งโคลงน้อยที่สุด เหมาะกับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการเมาเครื่องบินได้ง่าย

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างบิน

ถึงแม้ความเสี่ยงเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่อาจต้องระวังเอาไว้

  • การเกิดลิ่มเลือด โดยปกติกาารตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขาได้จากการที่มดลูกกดเบียดการไหลเวียนกลับของเลือดจากขาไปสู่หัวใจ  ดังนั้นหากหญิงตั้งครรภ์นั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานานในระหว่างการเดินทาง อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดคั่งที่ขาได้ ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด รวมทั้งความชื้นบนเครื่องบินที่ต่ำ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในเรื่องนี้ไม่ได้ใหญ่โตจนต้องเป็นกังวล แค่ควรพยายามลุกขึ้นยืดแข้งยืดขาเพื่อให้เลือดไหลเวียน และดื่มน้ำให้เพียงพอ ก็สามารถลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้
  • ความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจ ในระหว่างอยู่บนเครื่องบิน ความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจอาจสูงขึ้นได้ แต่โดยปกติแล้วจะไม่อยู่ระดับที่สูงจนทำให้เกิดอันตรายได้

กรณีไหนที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรบิน

คุณหมออาจแนะนำว่าไม่ควรเดินทางในกรณีที่ผู้หญิงตั้งครรภ์จะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคร้ายแรง การเดินทางด้วยเครื่องบินที่มีความสูงมากกว่า 12,000 ฟุต รวมถึงสถานที่ที่ต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสก่อนไป นอกจากนี้อาจต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามประเทศ ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ครั้งแรก และมีอายุ 35 ปีขึ้นไป หรืออายุต่ำกว่า 15 ปี
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ลูกแฝด
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความผิดปกติของรก หรือเคยมีความผิดปกติของรก ในการตั้งครรภ์ก่อนหน้านี้
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือเสี่ยงต่อการแท้ง
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เคยมีประวัติการแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูก การคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนการเจ็บครรภ์
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือครรภ์เป็นพิษ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Is it safe to fly during pregnancy?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/pregnancy-week-by-week/expert-answers/air-travel-during-pregnancy/faq-20058087. Accessed December 29, 2022.

Safe Flying While Pregnant. https://www.webmd.com/baby/taking-to-the-skies-pregnant-and-safe#1. Accessed December 29, 2022.

Pregnant Travelers. https://wwwnc.cdc.gov/travel/page/pregnant-travelers. Accessed December 29, 2022.

Travelling in pregnancy. https://www.nhs.uk/pregnancy/keeping-well/travelling/. Accessed December 29, 2022.

Travel Tips for Pregnancy. https://www.whattoexpect.com/pregnancy/pregnancy-travel-tips. Accessed December 29, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/04/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

คนท้องนอนไม่หลับ อาการในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์

วิธีบรรเทาอาการ ปวดหลังขณะตั้งครรภ์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 01/04/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา