backup og meta

ลิ่มเลือดอุดตันขณะตั้งครรภ์ กลุ่มเสี่ยง และการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 20/02/2022

    ลิ่มเลือดอุดตันขณะตั้งครรภ์ กลุ่มเสี่ยง และการป้องกัน

    ลิ่มเลือดอุดตันขณะตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายทั้งต่อคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ เนื่องจากลิ่มเลือดอาจไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกาย รวมถึงทารกในครรภ์ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะภายในและพัฒนาการของทารก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ การเรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงและการป้องกันลิ่มเลือดอุดตันขณะตั้งครรภ์อาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

    ลิ่มเลือดอุดตันขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

    โรคลิ่มเลือดอุดตัน (Deep vein thrombosis; DVT) หมายถึงสภาวะที่ลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดง มักจะเกิดขึ้นกับบริเวณช่วงขาส่วนล่าง ต้นขา สะโพก หรือแขน ลิ่มเลือดที่อุดตันนี้จะทำให้การไหลเวียนของเลือดลดลง หรือตัดขาดการไหลเวียนของเลือดที่เข้าสู่ปอดและหัวใจ จนทำให้เกิดการขาดออกซิเจน และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

    โรคลิ่มเลือดอุดตันนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่เพิ่งจะคลอดบุตรได้ไม่นาน อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตัน เนื่องจากกลไกของร่างกาย ทำให้เลือดของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์มีโอกาสในการจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายกว่าปกติ เพื่อช่วยห้ามเลือดและลดความเสี่ยงในการสูญเสียเลือดมากเกินไปขณะคลอด นอกจากนี้ ขนาดตัวของทารกในครรภ์ก็อาจจะส่งผลให้กระดูกเชิงกรานลงมากดทับในบริเวณหลอดเลือด และทำให้เลือดไหลเวียนได้ยากขึ้นเช่นกัน

    แม้ว่าโดยปกติแล้วโรคลิ่มเลือดอุดตันอาจจะไม่เป็นอันตรายมาก และสามารถรักษาได้อย่างง่ายดาย โดยการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulant) และลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือด แต่ในบางครั้ง ลิ่มเลือดก็อาจจะนำไปสู่ภาวะที่อันตรายได้ เนื่องจากลิ่มเลือดนี้จะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือด ทำให้ความดันภายในหลอดเลือดเพิ่มสูงขึ้น และนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ลิ่มเลือดก็อาจจะไปอุดตันในบริเวณที่สำคัญ เช่น หลอดเลือดปอด และทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนได้เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงปอดไม่เพียงพอ

    ใครบ้างมีความเสี่ยงเป็นลิ่มเลือดอุดตันขณะตั้งครรภ์

    ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะเกิดโรคลิ่มเลือดอัดตันขณะตั้งครรภ์

    • เคยเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันมาก่อน
    • อายุมากกว่า 35 ปี
    • เป็นโรคอ้วน หรือมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ขึ้นไป
    • ตั้งครรภ์ลูกแฝด
    • อายุครรภ์เพิ่มขึ้น
    • เป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือต้องอยู่นิ่งกับที่เป็นเวลานาน ๆ
    • เคยผ่าคลอด
    • มีภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
    • สูบบุหรี่
    • มีภาวะเส้นเลือดขอด

    แนวทางการป้องกันลิ่มเลือดอุดตันขณะตั้งครรภ์

    ลิ่มเลือดขณะตั้งครรภ์อาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดได้ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

    • ออกกำลังกาย คุณแม่สามารถเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ได้อย่างมากมาย เช่น การเดินในน้ำ โยคะ
    • ไม่นั่งนิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ๆ การขยับยืดเส้นยืดสายบ่อย ๆ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดได้เช่นกัน
    • หลีกเลี่ยงรองเท้าส้นสูง หันไปใส่รองเท้าส้นเตี้ยที่เหมาะสมกับขนาดเท้าและรองรับน้ำหนักได้ดี
    • หยุดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
    • ตรวจร่างกายเป็นประจำ

    สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตัน แพทย์อาจจะสั่งให้รับประทานยาเฮพาริน (heparin) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดขณะตั้งครรภ์

    เมื่อไหร่ควรพบคุณหมอ

    หากสังเกตพบสัญญาณและอาการของโรคลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ตั้งครรภ์ ควรรีบส่งเข้ารับการรักษาในทันที แม้ว่าอาการนั้นอาจจะสังเกตได้ยาก และในบางครั้งผู้ป่วยโรคลิ่มเลือดอุดตันอาจจะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม แต่ก็มีอาการบางอย่างที่สามารถพบได้บ่อย โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มักจะเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันในบริเวณช่วงขาส่วนล่างมากที่สุด

    สัญญาณและอาการของโรคลิ่มเลือดอุดตันที่พบได้บ่อย ได้แก่

    • อาการปวดขาขณะลุกขึ้นยืน หรือขยับขาไปมา
    • อาการปวดเมื่อบิดเท้า หรืองอเข่า
    • ผิวหนังบางจุดมีอุณหภูมิสูงกว่าส่วนอื่น รู้สึกร้อนบางจุด
    • มีอาการบวมในส่วนต่าง ๆ เช่น ขาบวม แขนบวม

    คุณแม่และคนรอบข้างควรคอยสังเกตสัญญาณและอาการของโรคลิ่มเลือดอุดตัน หากสังเกตพบอาการที่กล่าวมาเบื้องต้น ควรเข้ารับการรักษาในทันที เพื่อช่วยจัดการกับปัญหาลิ่มเลือด และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์อื่น ๆ ต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 20/02/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา