DFIU (Death Fetus In Utero) คือ การตายของทารกในครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20-28 สัปดาห์ขึ้นไป หรืออาจตายหลังจากคลอดออกมาทันที โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ไม่ฝากครรภ์ ปัญหารกและสายสะดือ การติดเชื้อ ตั้งครรภ์เกินกำหนด ความผิดปกติของโครโมโซม เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะนี้ต้องได้รับการรักษาด้วยการยุติการตั้งครรภ์หรือเร่งคลอด และคุณแม่ที่สูญเสียลูกจำเป็นต้องได้รับการดูแลร่างกายและสภาพจิตใจอย่างใกล้ชิด รวมทั้งหาสาเหตุเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
[embed-health-tool-due-date]
DFIU คือ อะไร
DFIU คือ การตายของทารกในครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 หรือมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20-28 สัปดาห์ขึ้นไป หรือเด็กที่ตายหลังจากคลอดออกมาโดยมีน้ำหนักตั้งแต่ 1,000 กรัมขึ้นไป โดยการตายของทารกในครรภ์อาจแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
- ทารกตายก่อนระยะคลอด (Early Stillbirth) เกิดขึ้นระหว่างอายุครรภ์ 20-27 สัปดาห์
- ทารกตายในระยะคลอดล่าช้า (Late Stillbirth) เกิดขึ้นระหว่างอายุครรภ์ 28-36 สัปดาห์
- ทารกตายในระยะคลอด (Term Stillbirth) เกิดขึ้นเมื่ออายุครรภ์ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป
สาเหตุของ DFIU
การตายของทารกในครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และอาจไม่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจน เนื่องจากการตายของทารกในครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของทารกในครรภ์
- การติดเชื้อของทารกในครรภ์
- ความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกในครรภ์
- ภาวะเลือดทารกเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตของมารดา (Fetomaternal Hemorrhage หรือ FMH)
- การติดเชื้อของมารดา
- ความผิดปกติของรก เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด รกเกาะต่ำ
- ความผิดปกติของสายสะดือ เช่น สายสะดือบิดเป็นเกลียวหรือเป็นปม สายสะดือพันแน่นรอบคอแขนและขาของทารกในครรภ์
- ภาวะรกเสื่อม (Placental Insufficiency)
- ปัญหาระหว่างคลอด
นอกจากนี้ ปัจจัยบางประการอาจทำให้ทารกมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในครรภ์ได้ ดังนี้
- ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป
- เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร
- ตั้งครรภ์ทารกแฝด
- โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- เป็นโรคอ้วนขณะตั้งครรภ์
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้ยาเสพติด หรือสูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์
อาการของ DFIU
อาการตายของทารกในครรภ์ที่พบได้บ่อย อาจมีดังนี้
- ตะคริว (Cramping) ซึ่งเป็นอาการมดลูกเกร็งตัว ทำให้มีอาการปวดและกล้ามเนื้อเป็นก้อนแข็งอย่างฉับพลัน
- ทารกในครรภ์ไม่ดิ้น
- ปวดท้อง
- น้ำหนักลดลง เต้านมมีขนาดเล็กลง
- มีไข้ ไม่สบายตัว
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
การรักษา DFIU คือ
เมื่อตรวจพบภาวะเด็กเสียชีวิตในครรภ์ จะต้องรักษาโดยการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ และสุขภาพผู้ป่วย โดยต้องมีการประเมินก่อนว่ามีการเสียชีวิตในครรภ์มานานเท่าไหร่จากการทำ ultrasound ดูลักษณะเด็กในครรภ์ หากพบว่ามีการเสียชีวิตมานานแล้วโดยเฉพาะในอายุครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสที่2เป็นต้นไป อาจจะเพิ่มความเสี่ยงเรื่องภาวะเลือดไม่แข็งตัวกับหญิงที่ตั้งครรภ์ได้ ซึ่งต้องทำการแก้ไขก่อนที่จะเริ่มยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งวิธีการยุติการตั้งครรภ์อาจจะมีวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- การขยายปากมดลูกเอาเด็กออก (Dilatation and Evacuation หรือ D&E) สำหรับการตายของทารกในครรภ์ที่มีอายุครรภ์มากกว่า 14 สัปดาห์ ซึ่งอาจแบ่งเป็นขั้นตอนการเตรียมปากมดลูกและขั้นตอนการนำชิ้นส่วนออกจากโพรงมดลูก
- การชักนำการคลอด เป็นการกระตุ้นให้เจ็บคลอดเองโดยการใช้สายสวนปัสสาวะสอดผ่านรูปากมดลูก เพื่อให้เกิดแรงตึงบริเวณปากมดลูกเล็กน้อย ส่งผลให้มีอาการเจ็บคลอดเกิดขึ้น
- การให้กินยาเร่งคลอดเพื่อให้คลอดเองตามธรรมชาติ
- การผ่าเอาทารกออก เป็นวิธีสุดท้ายที่จะเลือกใช้ในกรณีเร่งด่วนที่ทารกในครรภ์ตายและคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ไม่สามารถคลอดเองได้
และสุดท้ายภายหลังยุติการตั้งครรภ์แล้วจะต้องมีการประเมินและตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม เพราะหากเจอสาเหตุที่แน่ชัด อาจจะมีวิธีการป้องกันการเกิดซ้ำในการตั้งครรภฺต่อๆไปได้
การดูแลตัวเองเมื่อเกิด DFIU
คุณแม่ที่พบกับเหตุการณ์ทารกตายในครรภ์อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างมาก จึงควรมีการดูแลในด้านของสภาพจิตใจไปพร้อมกับการดูแลร่างกาย ดังนี้
- การเฝ้าระวังเพื่อป้องกันปัญหาทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล ความเครียด โดยครอบครัวอาจติดต่อคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญในการช่วยบำบัดและพูดคุยเกี่ยวกับสภาวะทางจิตใจของคุณแม่
- คนในครอบครัวควรอยู่เคียงข้าง เข้าใจ และพูดคุยอยู่เสมอ เพื่อสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง นอกจากนี้ ความรักและความเอาใจใส่ภายในครอบครัวยังสามารถช่วยเยียวยาสภาพจิตใจได้
- บางคนอาจมีน้ำนมไหลออกมาจึงควรหยุดน้ำนมด้วยการรัดเต้านมด้วยผ้ารัดหน้าอกให้แน่น จากนั้นประคบหน้าอกด้วยน้ำแข็งเพื่อลดอาการปวด และอาจใช้ยายับยั้งการหลังน้ำนมอย่างโบรโมคริปทีน (Bromocriptine) ร่วมด้วย
- เข้าพบคุณหมอตามนัดประมาณ 2-6 สัปดาห์ เพื่อติดตามอาการ และเพื่อวางแผนการมีบุตรในครั้งต่อไป