backup og meta

Preeclampsia หรือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ สาเหตุและวิธีรักษา

Preeclampsia หรือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ สาเหตุและวิธีรักษา

Preeclampsia หรือ ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษจะมีความดันโลหิตสูงกว่าปกติ มีโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะ ทำให้เกิดปัญหาอาการในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง มองเห็นไม่ชัด หน้าและมือบวม หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นทำให้อวัยวะสำคัญเสียหาย เช่น ตับหรือไตวาย น้ำท่วมปอด เลือดออกในสมอง หรือเกิดการชักได้ หากคุณแม่ตั้งครรภ์วินิจฉัยพบว่ามีภาวะนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอไปจนวันคลอด เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ การฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์และไปตรวจครรภ์ตามนัดหมายเสมอจึงถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ คุณหมอจะได้วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพและการเสียชีวิตของแม่และทารกในครรภ์

[embed-health-tool-due-date]

Preeclampsia คืออะไร

ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นภาวะที่หญิงตั้งครรภ์มีระดับความดันโลหิตสูงกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับมีโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะ จนกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น หัวใจ ไต ตับ ปอด และส่งผลต่อสุขภาพของทั้งแม่และทารกในครรภ์ จะเกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป หรือช่วงหลังคลอด (Postpartum preeclampsia) ได้เช่นกัน อาการของภาวะนี้จะแตกต่างไปในแต่ละคน ระดับความรุนแรงมีตั้งแต่ไม่รุุนแรงมาก เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หน้าบวม มือบวม ไปจนถึงรุนแรง เช่น อาการชัก (Eclampsia) หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์ต้องคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้ทารกแรกเกิดเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ทารกน้ำหนักตัวน้อย ทารกมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่พบ

สาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดเกิดจากรก ซึ่งทำหน้าที่ส่งผ่านออกซิเจนและสารอาหารจากแม่ไปยังทารกในครรภ์ โดยเส้นเลือดที่รกมีการฝังตัวเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่แบบผิดปกติ ทำให้เกิดการสร้างสารบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆของแม่ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว โดยส่วนใหญ่อาการแรกจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงของแม่ และร่วมกับมีอาการของการกระทบของอวัยวะอื่นได้ทั้งร่างกายปัจจัยเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษ มีดังนี้

  • ความเสี่ยงระดับสูงในการเกิดครรภ์เป็นพิษ
  • เคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • ตั้งครรภ์แฝด
  • มีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
  • เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
  • เป็นโรคไต
  • เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อตนเอง (Autoimmune Diseases) เช่น โรคลูปัส กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid Syndrome)

ปัจจัยเสี่ยงระดับกลางในการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจมีดังนี้

  • เป็นโรคอ้วน
  • มีคนในครอบครัวเคยเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
  • เคยมีภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนหน้านี้
  • ตั้งครรภ์เมื่ออายุเกิน 35 ปี
  • ตั้งครรภ์แรกหรือครรภ์ครั้งนี้ห่างจากครรภ์ครั้งก่อนมากกว่า 10 ปี

อาการที่พบ

อาการและอาการแสดงของภาวะครรภ์เป็นพิษ มีดังนี้

  • ความดันโลหิตสูง มากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท
  • มีระดับโปรตีน (ไข่ขาว) ในปัสสาวะสูงกว่าปกติ 
  • ตับอักเสบ ตรวจพบเอนไซม์ในตับสูงขึ้น
  • ภาวะซีดจากเม็ดเลือดแดงแตก
  • มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับตา เช่น สูญเสียการมองเห็นชั่วคราว สายตาพร่ามัว ตาไวต่อแสง
  • หายใจเหนื่อย จากภาวะน้ำท่วมปอด
  • ปวดท้องส่วนบน มักเกิดบริเวณใต้ซี่โครงขวา
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • หน้าบวม มือบวม น้ำหนักตัวขึ้นเยอะ
  • ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการชักร่วมด้วยได้

วิธีรักษาภาวะ Preeclampsia

การรักษาที่สิ้นสุดของภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ การทำคลอดอย่างปลอดภัย โดยทั่วไปการกำหนดวันคลอดจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะครรภ์เป็นพิษและอายุครรภ์ หากมีอาการครรภ์เป็นพิษที่ไม่รุนแรง จะแนะนำให้คลอดในช่วงสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นอายุครรภ์ที่ทารกในครรภ์ครบกำหนดพัฒนาสมบูรณ์ อาจใช้วิธีทำคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ ผ่าคลอด ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดคลอด แต่หากเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษในช่วงอายุครรภ์ที่ยังก่อนกำหนด หากคิดว่าอาการครรภ์เป็นพิษยังไม่รุนแรง มารดาและทารกในครรภ์ยังมีอาการคงที่ อาจจะมีการยืดรอระยะเวลาในการให้ยากับหญิงตั้งครรภ์เพื่อช่วยให้ปอดของทารกในครรภ์พัฒนาให้แข็งแรงมากขึ้น และเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตของหญิงตั้งครรภ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจนกระทั่งถึงเวลาที่จะทำคลอดได้

หากภาวะครรภ์เป็นพิษเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น คุณหมอจะดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อยืดเวลาการตั้งครรภ์ให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์มากที่สุด อาจนัดตรวจครรภ์บ่อยกว่าปกติ ทั้งการอัลตราซาวด์ การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด นอกจากนี้ ยังอาจให้หญิงตั้งครรภ์ตรวจความดันโลหิตเองที่บ้าน และหากมีภาวะครรภ์เป็นพิษขั้นรุนแรง คุณหมออาจแนะนำให้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลและพิจารณาให้คลอดตามช่วงเวลาที่เหมาะสม

Preeclampsia ป้องกันได้หรือไม่

ภาวะครรภ์เป็นพิษไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้ได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วน ควรควบคุมน้ำหนักและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียม ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาลสูง รวมไปถึงงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะตั้งครรภ์
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์ ควรควบคุมระดับน้ำตาลและระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมง/วัน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องไม่หักโหมจนเกินไป

นอกจากนี้ในผู้ที่มีความเสี่ยงระดับสูงในการเกิดครรภ์เป็นพิษ 1 ข้อ หรือมีความเสี่ยงระดับกลางในการเกิดครรภ์เป็นพิษ 2 ข้อขึ้นไป จะมีการพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันภาวะนี้เพิ่มเติมในระหว่างการตั้งครรภ์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Preeclampsia. https://www.webmd.com/baby/preeclampsia-eclampsia. Accessed October 26, 2022

Preeclampsia. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17952-preeclampsia. Accessed October 26, 2022

Preeclampsia. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/preeclampsia/symptoms-causes/syc-20355745#. Accessed October 26, 2022

Pre-eclampsia. https://www.nhs.uk/conditions/pre-eclampsia/. Accessed October 26, 2022

Preeclampsia. https://americanpregnancy.org/healthy-pregnancy/pregnancy-complications/preeclampsia/. Accessed October 26, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

02/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการตกเลือด ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด เกิดจากอะไร

ครรภ์เป็นพิษ และผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 02/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา