ภาวะไข่ฝ่อ หรือ ท้องลมคือ การตั้งครรภ์ผิดปกติที่มักเกิดขึ้นในช่วง 20 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ สาเหตุเกิดจากโครโมโซมผิดปกติหรือมีปัญหาทางพันธุกรรมระหว่างการแบ่งเซลล์ ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติและสลายตัวไปเอง เหลือไว้เพียงถุงตั้งครรภ์ อาจสังเกตได้จากอาการปวดท้องที่รุนแรงกว่าปวดประจำเดือนปกติ และอาจมีจุดเลือดออกหรือเลือดไหลออกจากช่องคลอด หากพบว่าตัวเองมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นอาการของภาวะท้องลม ควรไปพบคุณหมอทันทีเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม
[embed-health-tool-due-date]
ท้องลมคือ อะไร
ภาวะท้องลม (Blighted ovum) หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะไข่ฝ่อ เกิดขึ้นเมื่อไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนฝังตัวในมดลูกแล้วแต่ไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างสมบูรณ์ ตัวอ่อนจึงฝ่อตัวหลุดออกจากผนังมดลูก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ไปจนถึงครบกำหนดคลอดได้ บางครั้งตัวอ่อนอาจสลายไปเร็วมากก่อนที่คุณแม่จะรู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์อยู่ ผู้ที่มีภาวะนี้มักสูญเสียตัวอ่อนในครรภ์ไปในช่วงสัปดาห์ที่ 7-12 ของการตั้งครรภ์
โดยทั่วไป เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ ไข่ที่ผสมกับอุสจิและปฏิสนธิแล้วจะกลายเป็นตัวอ่อนฝังตัวเข้ากับผนังมดลูก โดยจะใช้เวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ กว่าตัวอ่อนจะเจริญเติบโตไปเป็นทารกที่สมบูรณ์แข็งแรงอยู่ในครรภ์ แต่หากเกิดภาวะท้องลม ถุงตั้งครรภ์จะยังคงก่อตัวและเติบโตต่อไป แต่ตัวอ่อนที่อยู่ข้างในจะไม่มีพัฒนาการไปด้วยและจะสลายตัวไปเอง รกและถุงตั้งครรภ์ที่ว่างเปล่าจะยังคงปล่อยฮอร์โมนการตั้งครรภ์หรือเอชซีจี (hCG) ทำให้ยังมีอาการเหมือนกำลังตั้งครรภ์ตามปกติ และสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้
สาเหตุของภาวะท้องลม
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภาวะท้องลดเกิดจากสาเหตุใด แต่อาจเกิดจากโครโมโซมของไข่ที่ปฏิสนธิผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม ไข่หรืออสุจิมีคุณภาพต่ำ หรือเซลล์ตัวอ่อนไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ตามปกติและสลายตัวไป ภาวะท้องลมเป็นภาวะเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติและไม่สามารถป้องกันได้ แต่มักเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรง
สัญญาณและอาการของภาวะท้องลม
อาการของภาวะท้องลมในช่วงเริ่มต้นจะคล้ายกับการตั้งครรภ์ตามปกติ เช่น ประจำเดือนขาด แพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และยังสามารถตรวจพบการตั้งครรภ์ได้เมื่อใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ จากนั้นจะเริ่มมีอาการที่เป็นสัญญาณของภาวะแท้งบุตร เช่น
- ปวดท้องและบริเวณอุ้งเชิงกรานติดต่อกันหลายวัน
- มีจุดเลือดหรือเลือดออกจากช่องคลอด
- เลือดออกขณะตั้งครรภ์
ทั้งนี้อาการเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงไตรมาสที่ 1 หรือ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ไม่ได้หมายถึงภาวะแท้งบุตรเสมอไป อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติลักษณะนี้ในขณะตั้งครรภ์ ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงโดยเร็วที่สุด
การวินิจฉัยภาวะท้องลม
การใช้ที่ตรวจครรภ์ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีภาวะท้องลมหรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีภาวะท้องลม แต่ก็ยังจะสามารถตรวจพบฮอร์โมนเอชซีจีในปัสสาวะซึ่งเป็นฮอร์โมนตั้งครรภ์ที่ผลิตมาจากเซลล์ของรกได้อีกระยะหนึ่ง เนื่องจากรกยังอาจเจริญเติบโตต่อไปอีกเป็นเวลาสั้น ๆ แม้ว่าตัวอ่อนจะสลายไปแล้ว จึงอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่ายังตั้งครรภ์ตามปกติ การวินิจฉัยภาวะท้องลมที่แม่นยำที่สุดสามารถทำได้ด้วยการอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด หากพบถุงการตั้งครรภ์ที่ขนาดโตกว่า 20 มิลลิเมตร และไม่พบตัวอ่อน แปลว่าท้องลม
วิธีรักษาภาวะท้องลม
การรักษาภาวะท้องลมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุครรภ์ ประวัติทางการแพทย์ สภาวะทางอารมณ์ โดยวิธีรักษาภาวะท้องลมที่คุณหมอใช้อาจมีดังนี้
- การขูดมดลูก ในกรณีที่ชิ้นส่วนตัวอ่อนยังหลุดออกจากช่องคลอดไม่หมดและค้างอยู่ในมดลูก คุณหมอจะถ่างขยายปากมดลูกและขูดมดลูก (Dilation and Curettage หรือ D&C) เพื่อนำเนื้อเยื่อที่ยังหลงเหลือออกมาให้หมด วิธีนี้อาจเป็นประโยชน์หากต้องการนำเนื้อเยื่อไปตรวจหาสาเหตุของการแท้งบุตร
- การใช้เครื่องมือสูญากาศ ดูดเนื้อเยื่อการตั้งครรภ์ทั้งรกและถุงการตั้งครรภ์ออกมาจนหมด
- การใช้ยา เช่น ยาไมโซพรอสตอล (Misoprostol) ที่ออกฤทธิ์ทำให้ปากมดลูกนิ่มลง และเพิ่มการบีบรัดมดลูก หลังใช้ยาอาจใช้เวลาหลายวันกว่าที่ร่างกายจะขับเนื้อเยื่อออกมาเองทั้งหมด และอาจทำให้เกิดอาการเลือดออกมาก ปวดท้อง เป็นตะคริว ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา
- การปล่อยแท้งตามธรรมชาติ ในบางกรณี คุณหมออาจรอให้ชิ้นส่วนตัวอ่อนหลุดลอกออกจากช่องคลอดไปเองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือหรือยารักษาเพื่อขับเนื้อเยื่อออก
ภาวะท้องลมทำให้ท้องได้ยากขึ้นหรือไม่
ผู้หญิงที่เคยมีภาวะท้องลมสามารถตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ได้ตามปกติ คุณหมออาจแนะนำให้รออย่างน้อย 1-3 เดือนก่อนพยายามตั้งครรภ์ครั้งต่อไป เพื่อให้ร่างกายฟื้นสภาพอย่างเต็มที่ โดยควรดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมด้วยวิธีต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง/วัน
- ไม่ทำงานหรือออกกำลังกายหักโหมเกินไป
- รับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิกอย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือนและรับประทานต่อเนื่องไปจนถึงเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแท้งบุตรและภาวะพิการของทารกได้