การใช้ ยาเร่งคลอด เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ หากถึงกำหนดคลอดแล้วทารกไม่สามารถออกจากครรภ์ตามธรรมชาติได้ คุณหมอช่วยเร่งกระบวนการคลอดลูกด้วยการฉีดยากระตุ้นการบีบรัดตัวของมดลูก เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และทารกในครรภ์ ทั้งนี้ ยาเร่งคลอดจะใช้ในกรณีที่จำเป็นตามดุลพินิจของสูตินรีแพทย์เท่านั้น เช่น อายุครรภ์เกิน 40 สัปดาห์ มีภาวะครรภ์เป็นพิษ น้ำคร่ำแตกแล้วแต่ยังไม่ปวดท้องคลอด การใช้ยาเร่งคลอดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หากอาการรุนแรงขึ้น ควรแจ้งให้คุณหมอที่ดูแลทราบหรือไปพบคุณหมอทันที
[embed-health-tool-due-date]
ยาเร่งคลอด คืออะไร
ยาเร่งคลอด หรือยาออกซิโตซิน (Oxytocin) เป็นยาฮอร์โมนที่ใช้เร่งการเจ็บท้องคลอดและเตรียมคุณแม่ให้พร้อมสำหรับการคลอดลูก โดยคุณหมอจะฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อบริเวณต้นขา เพื่อกระตุ้นให้มดลูกหดรัดตัวรุนแรงกว่าปกติ ทำให้ปากมดลูกขยายใหญ่มากพอที่จะทารกผ่านช่องคลอดออกมาได้อย่างปลอดภัยในเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังอาจใช้ฮอร์โมนออกซิโตซินเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด และใช้กระตุ้นการหลั่งน้ำนมแม่ในช่วงให้นมได้ด้วย
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Gynecology and Obstetrics เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับการเร่งคลอดและการตอบสนองต่อความเครียดทางกายและจิตใจโดยการวัดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลาย โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ 167 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ใช้การเร่งคลอด 72 คน และกลุ่มที่คลอดตามธรรมชาติ 95 คน เมื่อตรวจระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลายและให้คุณแม่บอกระดับความเครียดตั้งแต่ 0-10 พบว่า การเร่งคลอดไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเครียดมากขึ้นในขณะคลอดลูก ทั้งยังมีส่วนช่วยลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนเครียดเมื่อคุณแม่อยู่ในระยะปากมดลูกเปิด 0-3 เซนติเมตร (Latent phase) ด้วย
ทั้งนี้ คุณหมอจะตัดสินใจใช้ยาเร่งคลอดเฉพาะในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น เนื่องจากการเร่งคลอดอาจทำให้มดลูดบีบรัดตัวรวดเร็วและรุนแรงเกินไป และทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บท้องและบริเวณอุ้งเชิงกรานมากกว่าการคลอดตามปกติ
ยาเร่งคลอด ใช้ในกรณีใดบ้าง
คุณหมออาจพิจารณาใช้ยาเร่งคลอด ในกรณีที่จำเป็นดังต่อไปนี้
- มีอายุครรภ์เกินกำหนด หรือตั้งครรภ์นานกว่า 41 สัปดาห์แล้วแต่ยังไม่คลอด
- สงสัยว่ารกไม่สามารถส่งสารอาหารและลำเลียงออกซิเจนไปยังทารกได้ตามปกติ อาจทำให้ทารกเจริญเติบโตได้ช้าและมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์
- คุณแม่มีภาวะทางสุขภาพบางประการที่อาจเป็นอันตราย เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะตกเลือดก่อนคลอด
- มีอาการถุงน้ำครรภ์แตกแล้ว แต่มดลูกยังไม่หดรัดตัวอย่างที่ควรจะเป็น หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดภาวะติดเชื้อ และอันตรายต่อชีวิตทารกในครรภ์ได้
- มีทารกในครรภ์ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
- ทารกเสียชีวิตในครรภ์
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเร่งคลอดไม่สามารถใช้ได้กับทุกคน และไม่เหมาะกับผู้ที่เคยผ่าคลอดหรือเคยผ่าตัดใหญ่บริเวณหน้าท้องมาก่อน ผู้ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ (Placenta Previa) ผู้ที่ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น ทารกในครรภ์อยู่ในท่าก้น (Breech position) ทารกในครรภ์นอนขวางหรือนอนตะแคงข้าง
ผลข้างเคียงจากการใช้ ยาเร่งคลอด
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเร่งคลอด อาจมีดังนี้
อาการโดยทั่วไป
- อาการปวดท้องเนื่องจากมดลูกบีบรัดตัว ซึ่งสามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวด
- คลื่นไส้
- อาเจียน
อาการรุนแรง ควรรีบเข้าพบคุณหมอ
- มีผื่นผิวหนัง
- เป็นลมพิษ
- คันผิวหนัง
- หัวใจเต้นแรงกว่าปกติหายใจไม่สะดวกและกลืนน้ำลายลำบาก
- มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ลำคอ ลิ้น ริมฝีปาก ดวงตา มือ เท้า ขาท่อนล่าง ข้อเท้า
- เลือดออกผิดปกติ
อาการของการใช้ยาเกินขนาด
- ผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต เป็นผลข้างเคียงที่สำคัญ สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำได้จากการคลายตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดเลือด เป็นเหตุผลว่าไม่ควรให้ยาออกซิโตซินทางหลอดเลือดดำอย่างรวดเร็ว
- มดลูกหดรัดตัวมากเกินไป ทำให้ทารกในครรภ์ขาด ออกซิเจน
- ภาวะน้ำในร่างกายมากผิดปกติจนเป็นพิษ (Water intoxication) เนื่องจากยาออกซิโตซิน มีโมเลกุลคล้ายกับฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (Vasopressin) ส่งผลให้เกิดการกักเก็บน้ำไว้ในร่างกาย (Water retention) ซึ่งทำให้ปริมาณของโซเดียมในร่างกายต่ำ ดังนั้นควรต้องเฝ้าระวังการใช้ยา oxytocin ขนาดสูงในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema) เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
- การตกเลือดหลังคลอด จากการให้ยาเร่งคลอดมากหรือนานเกินไป
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงและอาการของการใช้ยาเร่งคลอดเกินขนาดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรไปพบคุณหมอทันที
ทางเลือกอื่น ๆ ในการเร่งคลอด (Induced labour)
- การเลาะถุงน้ำคร่ำ (Membrane sweep)
คุณหมอจะสอดนิ้วเข้าไปในปากมดลูกแล้วหมุนให้รอบมดลูกส่วนล่าง เพื่อเลาะถุงน้ำคร่ำออกจากมดลูกส่วนล่าง และช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่ทำให้ปากมดลูกขยายตัว วิธีนี้เป็นวิธีเร่งคลอดที่ง่าย สะดวก และปลอดภัย ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและการตกเลือดได้ด้วย การเลาะถุงน้ำคร่ำจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเล็กน้อย และอาจใช้ไม่ได้ผลเสมอไป
- การเจาะถุงน้ำคร่ำ (Amniotomy)
คุณหมอจะสอดเครื่องมือคล้ายตะขอขนาดเล็กเข้าไปในช่องคลอด แล้วเจาะถุงน้ำคร่ำให้เป็นรู เพื่อช่วยลดแรงดันของน้ำคร่ำบริเวณศีรษะของทารก ทำให้ศีรษะลงมาในอุ้งเชิงการได้มากขึ้น และยังช่วยหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ดีขึ้น นิยมใช้วิธีนี้เมื่อน้ำคร่ำไม่แตกตามธรรมชาติ อาจใช้ร่วมกับการฉีดออกซิโตซินเพื่อกระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูก วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกอึดอัดเล็กน้อย และอาจเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยในการเกิดภาวะสายสะดือย้อย (Umbilical cord prolapse) มีเลือดออก หรือติดเชื้อ
- การใช้ยาพรอสตาแกลนดิน
คุณหมออาจให้คุณแม่สอดยาพรอสตาแกลนดินรูปแบบเจลหรือยาเหน็บทางช่องคลอดเพื่อช่วยให้ปากช่องคลอดนุ่มลง เพิ่มการหดรัดตัวของมดลูก และช่วยให้คลอดง่ายขึ้น คุณแม่อาจต้องสอดยาพรอสตาแกลนดินหลายครั้งทุก ๆ 6-8 ชั่วโมงและจะต้องนอนรอให้ยาออกฤทธิ์ที่โรงพยาบาล ตัวยาจะค่อย ๆ ปล่อยฮอร์โมนออกมาเป็นเวลา 12 -24 ชั่วโมง หากถุงน้ำคร่ำไม่แตกอาจต้องใช้ยาพรอสตาแกลนดินร่วมกับการเจาะถุงน้ำคร่ำหรือการฉีดยาเร่งคลอด หลังสอดยาเข้าสู่ช่องคลอดอาจทำให้รู้สึกเจ็บและมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย
- การใช้บอลลูนถ่างขยายปากมดลูก
คุณหมอจะสอดบอลลูนใส่น้ำเกลือที่มีท่อขนาดเล็กติดอยู่เข้าไปในปากมดลูกเพื่อช่วยเพิ่มแรงดันภายในปากมดลูกและทำให้ปากมดลูกขยายออก บางกรณีอาจต้องสอดบอลลูนค้างไว้นานถึง 15 ชั่วโมง วิธีนี้สามารถใช้ร่วมกับการเจาะถุงน้ำคร่ำและการฉีดยาเร่งคลอดได้ ถ่างขยายปากมดลูกด้วยบอลลูนอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ แต่พบได้น้อยมาก
ทั้งนี้ คุณหมอจะต้องทราบอายุครรภ์ที่แน่นอนก่อนทำการเร่งคลอด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของทารกในอนาคต